มีบุคคลที่นับถือท่านหนึ่ง แอบกระซิบถามว่า
การที่คนทำงาน เอางานส่วนตัวมาใช้คอมพิวเตอร์และเวลางานของราชการ ถือว่าเป็นอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์หรือไม่
ผมเห็นว่า เป็นเรื่องที่หลายคนน่าจะสงสัยเหมือนกัน (บางคนก็เห็นเป็นประจำ) ก็เลยขอยกเอามาตอบตรงนี้เลยแล้วกัน เผื่อมีผู้เชี่ยวชาญผ่านมาแถวนี้ มาช่วยผมตอบ เพราะผมเอง ตอบตามตรงก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน คนที่น่าจะช่วยตอบได้ดีที่สุด น่าจะเป็นนักนิติศาสตร์ ถ้าผมคิดเห็น หรือตีความผิดประการใด ก็ทักท้วงด้วยแล้วกันนะครับ
ในทางนิตินัย ถ้าเริ่มต้นจากง่าย ๆ ก็คือ น่าจะดูจากกฏหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Computer Crime) โดยตรง ถ้าอย่างบ้านเราก็ พรบ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ผมก็ลองแว๊บ ๆ ไปดูของที่อเมริกา กับของแคนาดามาเหมือนกัน ผมไม่เห็นข้อความตรงไหน ที่สามารถตีความว่า การใช้คอมพิวเตอร์ของทางราชการไปในการส่วนตัว เป็นอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์
เท่าที่ผมเข้าใจ ปัจจุบันนิยามของ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ในตัวบทกฏหมาย มันมีอยู่ 2 นัย คือ 1) การใช้คอมพิวเตอร์เป็น “เครื่องมือ” ก่ออาชญากรรม หรือ 2) คอมพิวเตอร์เป็น “พื้นที่” ที่เกิดอาชญากรรม (เช่น การละเมิดสิทธิในการเข้าถึง – เข้าถึงเครื่องหรือข้อมูลที่เค้าไม่อนุญาต – โดยจะเน้นไปที่พวกเครือข่ายมากกว่า)
แต่ถ้ามองในเชิงอาญาล้วน ๆ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ความผิดทางอาญาในบ้านเรานั้น ครอบคลุมไปถึงเรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการด้วย ซึ่งได้แก่
- เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ของทางราชการ
- เจ้าพนักงานรับสินบนจากประชาชน
- เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
- เจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่
- เจ้าพนักงานละทิ้งหน้าที่ (ที่มา Pantown.com)
ดังนั้น การใช้คอมพิวเตอร์และเวลาราชการมาใช้ประโยชน์ส่วนตน ก็คือ การยักยอกทรัพย์ ฉ้อราษฏร์บังหลวง นั่นเอง ทำให้หลวงเสียผลประโยชน์ จากทรัพยากรที่สูญเสียไป สำคัญมันอยู่ที่เรื่อง เวลา, bandwidth, และค่าเสื่อม ซึ่งก็เหมือนกับว่า การที่เอาปากกากับกระดาษของรัฐ ไปเขียนจดหมายหาแฟนในเวลาทำงาน กับลักปากกากับกระดาษของรัฐไป ผมว่ามันก็ไม่น่าจะต่างกัน ในเชิงการกระทำความผิด เพราะยักยอกของหลวงเหมือนกัน (เว้นแต่ว่า ปากกาได้เกิดจากการได้เป็นรางวัลตอบแทน อะไรซักอย่างหนึ่ง)
ดังนั้น ถ้ามองในมุมนี้ การเอาคอมพิวเตอร์และเวลาทำงานมาใช้ในเรื่องส่วนตัว น่าจะเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ซึ่งมันก็คือ การก่ออาชญากรรมนั่นเอง (เพราะอาชญากรรม – ถ้าเข้าใจไม่ผิด – คือการกระทำความผิดทางอาญา)
แต่กระนั้นก็ไม่น่าจะอยู่ในกรอบของ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เพราะในที่นี้คอมพิวเตอร์ถูกเปรียบเทียบเป็น “สินทรัพย์” ไม่ใช่ “เครื่องมือ” หรือ “พื้นที่” ที่เป็นตัวกลาง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
งงมั๊ยเนี่ย? คือ ถ้าอย่างเช่น ถึงแม้ตัวข้อมูลคอมพิวเตอร์สูญหาย แต่การกระทำนั้น ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ หรือไม่ได้เกิดขึ้นภายในระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การจุดไฟเผาหรือทุบเครื่องเซิร์ฟเวอร์ หรืออะไรทำนองนั้น ก็ไม่น่าจะเรียกได้ว่า เป็น อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้างต้น ก็เป็นการวิเคราะห์เฉพาะในบริบทขององค์กรของรัฐ ที่ข้าราชการเป็นคน “ของ” ประชาชน
ซึ่งถ้าเป็นองค์กรเอกชน การวิเคราะห์คงจะต้องไปดูทางแพ่งแทนมากกว่า เนื่องจากมันมีกรอบขององค์กรครอบอยู่อีกชั้นนึง นั่นก็ขึ้นอยู่กับกฏระเบียบและวิธีปฏิบัติขององค์กรนั้น ๆ เช่น สัญญาจ้างงาน ระเบียบการใช้วัสดุครุภัณฑ์ อะไรทำนองนี้ แต่โดยทางพฤตินัย ก็ค่อนข้างจะหยวน ๆ ทั้งนี้ ในเชิงการบริหารจัดการองค์กรและบุคคล ก็สามารถมองได้ว่า เรื่องส่วนบุคคลก็มีผลต่อ ประสิทธิภาพของการทำงานอยู่ไม่ใช่น้อย ดังนั้น ถ้าจะให้ชี้ชัดและน่าจะเข้าท่าเข้าทางหน่อย น่าจะเป็นเรื่อง จริยธรรม (Ethic) และมารยาท (Etiquette) ในการทำงานมากกว่า