คำถามของนักข่าวกับบล๊อกเกอร์

Published by

on

ต้องยอมรับบล๊อกเกอร์ในอเมริกา มีบทบาทต่อการเมืองเป็นอย่างมาก เมื่อต้นสัปดาห์ มีบทความชิ้นหนึ่งในนิตยสาร Slate (FYI: ค่อนข้าง pro blogger และนำเอาประเด็นที่เกิดขึ้นบน Blogophere มาเขียน) เค้าเปรียบเทียบการตั้งคำถามสัมภาษณ์ ระหว่างคำถามของนักข่าวกับของบล๊อกเกอร์ ที่ถามไปยัง Mike Huckabee (อดีตผู้ว่าการรัฐ Arkansas ที่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ของพรรค Republican) ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์แบบแยกกลุ่ม คือ ตอบคำถามจากนักข่าวกลุ่มหนึ่ง กับกลุ่มบล๊อกเกอร์อีกกลุ่มหนึ่ง แยกกัน (bifurcated)

เค้าวิเคราะห์ออกมาว่า คำถามของนักข่าวค่อนข้างกระชับและเตรียมการมาอย่างดี ในขณะที่ของบล๊อกเกอร์ (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสนับสนุน Huckabee) มีเนื้อมีหนังมากกว่ามาก (ในบทความใช้คำว่า substantive)

ในบทความก็ได้ยกตัวอย่างคำถามมาด้วยเช่นกัน ก็จะเห็นได้ชัดว่า ถึงแม้ว่าคำถามของนักข่าวจะกระชับ แต่ก็ดูถามกว้างมาก ในขณะที่คำถามของบล๊อกเกอร์ นั้นเจาะลึก และมีรายละเอียดมากกว่า

แน่นอนมันมีข้อแตกต่าง ทั้งในเชิงวัตถุประสงค์ และพื้นหลัง ระหว่างทั้งสองกลุ่ม ทั้งนี้ ผมมองเห็นว่า นักข่าว ตั้งคำถาม ถึงแม้จะกระชับ เตรียมการมาแค่ไหน สิ่งที่บรรดานักข่าวต้องการ ก็คือ “ความเป็นข่าว” (เพราะเหตุนี้ การเมืองบ้านเรา จึงมีแต่เรื่อง ใครจะควบกับใคร ใครจะคู่ใคร ใครจะไปเสนอหน้าออกทีวีที่ไหน ในขณะที่เนื้อข่าวเกี่ยวกับ นโยบาย แนวคิดของคนเรานั้น เป็นอย่างไร มีน้อยมาก) ในขณะที่ บล๊อกเกอร์ นั้น ต้องการเข้าถึงประเด็นปัญหา และมีความเข้าใจในพื้นหลังของปัญหามากกว่า

อ่านแล้ว ก็ทำให้ได้ความคิดขึ้นมาว่า บ้านเรา น่าจะให้บล๊อกเกอร์ ในชุมชนต่าง ๆ ช่วยรวบรวมกันตั้งคำถามที่ตัวเองสนใจ แล้วก็ส่งไปยังพรรคการเมือง แล้วให้เค้าตอบมาบ้าง

รูปแบบการส่งคำถาม ก็น่าจะทำเหมือนกับ digg หรือ slashdot คือ ให้ตั้งคำถามมา แล้วก็ให้คนในชุมชนช่วยกันโหวตจัดลำดับ ว่าอยากให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ตอบ คำถามไหนมากที่สุด

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า ชุมชนอย่าง Blognone น่าจะเริ่มง่ายที่สุด เพราะชุมชนค่อนข้างจะ active และการตั้งคำถามในช่วงสัมภาษณ์ ที่เคย ๆ ทำ ก็ดูเหมือนจะได้รับความนิยมจากสมาชิกในชุมชน นอกจากนี้การเป็นชุมชนเฉพาะด้าน ก็จะทำให้ได้คำถามที่ไม่กว้างเกินไป และมีน้ำหนัก

จริง ๆ อยากเห็นคำถามจากชุมชนเฉพาะด้านมากกว่านี้ เช่น กลุ่มผู้มีผลได้ผลเสียจากการออกนอกระบบ กลุ่มผู้มีผลได้ผลเสียกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (การไฟฟ้า การรถไฟ อะไรก็ว่าไป)

เขียนแบบนี้ จริง ๆ ก็เพราะมีแรงผลักดันส่วนตัวด้วยประการหนึ่ง เนื่องจากเริ่มรู้สึกว่า จะเลือกตั้งอีกไม่ถึงเดือนนี้แล้ว ยังไม่รู้เลยว่า พรรคไหน มีนโยบายอะไรบ้าง (แม้กระทั่งพรรคที่บอกว่า ชูนโยบาย ก็ยังไม่เข้าใจ ว่าจะทำอะไร) ไม่รู้ว่าที่เมืองไทย คนทั่วไปรู้สึกแบบเดียวกันหรือเปล่า ส่วนตัวมีคำถามตั้งหลายอย่าง ตั้งแต่คำถามแบบพื้นฐาน จนถึงคำถามเฉพาะเจาะจง อย่างเช่น

  • มีนโยบาย e-government หรือไม่ ถ้ามี จะทำอะไร
  • ปัญหาความแตกต่างในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ไม่เท่าเทียมกัน (Digital divide) ทำให้คนที่ไม่สามารถเข้าถึง หรือเข้าถึงได้น้อยขาดโอกาสในการดำรงชีวิตหลายประการ มีแนวคิดที่จะช่วยเหลืออย่างไร
  • มีแนวคิดจะช่วยเหลือ สนับสนุนการบริหารจัดการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างไร
  • มีความคิดเห็นเกี่ยวกับ Open Society ผ่าน Open Source หรือ Open Access หรือไม่ อย่างไร
  • มีความคิดเห็นอย่างไรต่อปัญหาลิขสิทธิ์ รู้เรื่องและสนับสนุน Creative Commons หรือไม่
  • กระทรวงวัฒนธรรม ดูเหมือนจะมีปัญหากับสังคมของคนรุ่นใหม่ ถ้าได้มาเป็นรัฐบาล จะมีแนวนโยบาย หรือแนวทางในการบริหารงานเชิงวัฒนธรรมอย่างไร (หรืออีกนัยหนึ่ง กระทรวงวัฒนธรรม ในรัฐบาลของคุณ จะทำหน้าที่อะไรบ้าง มีบทบาทอย่างไรในสังคม)
  • มีความคิดเห็น และอยากจะแก้ปัญหาอย่างไร กับปัญหาสิทธิเสรีภาพของสื่อ นักวิชาการ และการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน ถูกริดรอนด้วยการเซ็นเซอร์ และอำนาจรัฐ
  • มีความคิดเห็นต่อรัฐบาลพม่าอย่างไร
  • กระทรวงกลาโหมของรัฐบาลปัจจุบัน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ใช้งบประมาณเปลือง คิดเห็นอย่างไร และมีนโยบายในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อย่างไร
  • มีแนวทางอย่างไร ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นในรัฐบาลของตน
  • ฯลฯ

และผมก็คิดว่า ยังมีคำถามอีกตั้งมากมายที่คนทั่วไป อยากรู้ และก็อยากถาม แต่ไม่มีที่ให้ถาม การรวมพลังและนำเสนอตัวเองของสื่อพลเมือง ในยามนี้ น่าจะมีบทบาทในการสร้างกระแส เพื่อให้ประชาชนและสื่อหลัก หันมาสนใจนโยบาย และรู้จักความคิดอ่าน ของคนที่จะมาเป็นรัฐบาลมากขึ้น มากกว่าจะไปสนใจว่าใครจะไปอยู่กับใคร

บางคนอาจจะบอกว่า ถามไปก็งั้น ๆ พอได้เข้ามาเป็นรัฐบาลก็อีหรอบเดิม แต่กระนั้น ผมเห็นว่า ถึงแม้ว่าการตอบคำถาม จะไม่ได้เป็นการสัญญิง สัญญาอะไรเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เราตัดตัวเลือกที่แย่กว่าออกไปได้…

ปล. อ่าน Live blogging ของงาน YouFest2 แล้วชอบมากครับ ใครยังไม่ได้อ่าน แนะนำให้ไปอ่านครับ มีประเด็นที่น่าสนใจเยอะทีเดียว

Update: อ่านเพิ่มเติม

3 ตอบกลับไปที่ “คำถามของนักข่าวกับบล๊อกเกอร์”

  1. lek Avatar

    i think bloggers are writing what they are interesting in. They want to really know the detail. Thus questions are more specific.
    And bloggers have no limit in space, topic. Thus they can do whatever they want.

    อ่านบล๊อกไทยแล้วก็เบื่อครับ มีไม่กี่บล็อกที่น่าสนใจ ที่ถามและตอบคำถามอย่างเจาะลึก

  2. lek Avatar

    ย่ิงนักข่าว ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

  3. mk Avatar
    mk

    ของ blognone นี่เป็นอะไรที่ผมตั้งใจไว้อยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการหาช่องทางติดต่อเข้าไปยังนักการเมืองครับ ไม่รู้จะสำเร็จแค่ไหน

ส่งความเห็นที่ lek ยกเลิกการตอบ