New York Times ภาคนิตยสาร ฉบับล่าสุด (ธันวาคม 2007) รวบรวม 70 งานวิจัย การประดิษฐ์ การค้นพบ และความคิดที่น่าสนใจช่วงปี 2007 อ่านแล้ว มีประเด็นที่น่าสนใจเยอะแยะมากมาย ซึ่งก็ถือว่า เป็นปีที่มีสีสัน ไม่น้อยทีเดียว เช่น
- คนเรามักตีความความคลุมเคลือ (Ambiguity) ของคนอื่นไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะการออกเดท เช่น ใน profile ของผู้ชาย เขียนว่า เป็นพวก outgoing ผู้หญิงก็มักจะคิดว่า ผู้ชายคนนี้เป็นพวกชอบกีฬากลางแจ้ง แต่เมื่อไปเจอตัวจริง กลับพบว่า เค้าเป็นพวกชอบเปลือยอาบแดด
- การใช้ Craigslist ในการแก้แค้น ด้วยการออกประกาศ ว่า บ้านของคน (ที่ต้องการแก้แค้น) แจกของฟรีทั่วบ้าน ตอนที่เจ้าของบ้านไม่อยู่
- Crowdware: ความสำเร็จของ widget ทั้งหลายบน Social Networking Site
- พลังของมวลชนในการสืบค้นจากภาพถ่ายดิจิตอลจากดาวเทียม (ตัวอย่าง กรณี Jim Gray แห่งไมโครซอฟท์)
- การใช้ Wiki ในการรวบรวมข้อแนะนำในการแก้ไข กฏหมายเกี่ยวกับตำรวจในนิวซีแลนด์
- บริการส่งอีเมล์จากหลุมฝังศพ: เขียนอีเมล์ไว้ก่อนตาย พอตายแล้วบริการนี้ ก็จะส่งเมล์ไปให้คนที่เราต้องการ
- Wikiscanning: เรื่องราวของ hacker หนุ่มคนหนึ่ง คิดค้นบริการ ที่ช่วยสืบหาว่า ใครเป็นคน edit wikipedia บ้าง ทำให้พบว่า บางหัวข้อที่สำคัญ ๆ ถูกแก้ไขจากคนที่มีส่วนได้ ส่วนเสียเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ๆ
- Youtube เป็นแหล่งในการหาตัวแสดง (audition) ในมิวสิควิดีโอของ Jay-Z โดยบังเอิญ
- บริการ Social Networking Site จากยีนส์ โดยจะจับคู่ระหว่างคนที่มีสายเลือดเดียวกัน
จริง ๆ มีอีกหลายเรื่องที่ผมชอบ เช่น การตรวจฉี่ของคนในชุมชน แทนที่จะไปตรวจเป็นคน ๆ ก็ไปตรวจจากบ่อเขรอะ ตรวจทีเดียว ก็รู้ว่า คนในชุมชนใช้ยาเสพติดอะไรกันมั่ง ซึ่งข้อมูลที่ได้ น่าจะสามารถนำไปใช้ในการบริหาร ระบบสาธารณสุขของชุมชน ได้ดีกว่า, บริการตรวจโรคอัลไซเมอร์จาก 50 คำถามทางโทรศัพท์, บางกรณี คนที่มีหวังก็แย่กว่าคนที่ไม่มีความหวัง, การจอดรอเพื่อเลี้ยวซ้าย (ถ้าเป็นเมืองไทย ก็เลี้ยวขวา) สิ้นเปลืองพลังงาน ดังนั้นเพื่อเป็นการประหยัด โดยเฉพาะกับบริษัทขนส่งอย่าง UPS จึงมีนโยบาย งดการเลี้ยวซ้าย, คนอเมริกัน เพิ่งพบว่า หน้าตามีผลต่อการเลือกตั้ง ในขณะที่บ้านเรา โหงวเฮ้งนี่ เป็นเรื่องที่รู้กันมานานแล้ว อิอิ, เป่ายิงฉุบ ถูกนำมาใช้เปรียบเทียบเป็นทฤษฎี ทางชีววิทยา ไม่ว่าจะเป็นกับสัตว์เลื้อยคลาน หรือกับแบคทีเรีย และอีกเยอะแยะ มากมาย
แต่บางอันนี่ อ่านแล้วก็คิดว่า “แล้วไง” อย่างเช่น รอยสักสำหรับผู้พิการทางสายตา บางอันก็เป็นประเภท เรื่องไม่เป็นเรื่อง อย่างเช่น การฟ้องร้องพระผู้เป็นเจ้า (ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ) หรืออย่าง การคำนวณภาษีจากส่วนสูง เป็นต้น หรือ บางเรื่อง ก็ดูไม่ใช่เรื่องใหม่ในสายตาเรา โดยเฉพาะคนไทย แต่โดยรวมก็ถือว่า เป็นการอ่านไว้ประดับความรู้ เปิดโลกทัศน์ได้ไม่น้อยทีเดียว
บันทึก: บทความของ NYT ฟรี ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บอกรับ NYT เท่านั้น แต่จะต้องลงทะเบียน