วันนี้กลับมาถึงบ้าน ได้รับพัสดุเป็นซองขนาดใหญ่วางอยู่หน้าบ้าน เปิดออกมาก็เป็นหนังสือที่ผมเป็น contributor อยู่ 2 บท ก็เลยว่าเอามาเขียนเสียหน่อย แต่แทนที่จะเขียนขายธรรมดา ก็เขียนเป็นแบบกึ่งบทวิจารณ์หนังสือแล้วกัน
หนังสือจะเริ่มออกขายในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ครับ (ดูเพิ่มเติมใน Amazon และ Worldcat)
—-
Wildemuth, B. M. (2009). Applications of Social Research Methods to Questions in Information and Library Science. Westport, CONN: Libraries Unlimited.
เป็นที่ทราบกันดีว่า สารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ มีลักษณะเป็นสหสาขาวิชาสูงมากสาขาหนึ่ง นั่นหมายความว่าในการศึกษาค้นคว้าวิจัยของศาสตร์นี้ อาศัยและบูรณาการระเบียบวิจัยจากศาสตร์สาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การบริหารจัดการ หรือแม้กระทั่งศิลปศาสตร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากมุมมองที่เป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน จุดเน้นหรือเป้าหมายสำคัญของศาสตร์สาขานี้ ก็คือ การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งานวิชาชีพ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นไปตามแนวคิดของ การปฏิบัติเชิงประจักษ์ (evidence-based practice) (ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต่อขยายมาจาก การแพทย์เชิงประจักษ์หรือ evidence-based medicine) นอกจากนี้ เมื่อจุดศูนย์กลางของศาสตร์นั้นอยู่ที่สิ่งที่เราเรียกว่า “สารสนเทศ” ในฐานะที่เป็นผลผลิตทางสังคมและเศรษฐกิจ ความสนใจของการศึกษาหาความรู้จึงกระจายไปอยู่ที่ประสิทธิผลและประสิทธิภาพของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ ซึ่ง ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า สารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ มีลักษณะเป็นสังคมศาสตร์ประยุกต์ (applied social science) (อ่านเพิ่มเติม Wilson (2002))
กระบวนทัศน์ในเชิงระเบียบวิธีวิจัยในการศึกษาวิจัยด้านสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ จึงโน้มเอียงไปทางสังคมศาสตร์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับ “คน” ที่ถูกเรียกกันหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นในมุมมองดั้งเดิมในเชิง passive อย่าง ผู้ใช้ ผู้ฟัง ผู้รับสาร ผู้อ่าน ผู้ค้น มาจนถึงบทบาทที่ active มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต ผู้สร้างสรรค์ ผู้เขียน ผู้แต่ง ผู้พูด เป็นต้น (Dervin, 2003)
หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นที่นิยมในการศึกษาของศาสตร์สาขานี้ โดยพิจารณาจากบทความปริทัศน์วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวิธีวิจัย ตลอดจนวารสารวิชาการชั้นนำด้านสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ ซึ่งแบ่งออกเนื้อหาเป็น 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ บทนำ คำถาม การออกแบบการวิจัยและสุ่มตัวอย่าง วิธีการจัดเก็บข้อมูล และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งในแต่ละส่วนก็จะมีบทย่อย รวมทั้งหมด 39 บท
หลายบทเขียนขึ้นเองโดยผู้แต่ง ในขณะที่มากกว่าครึ่งเป็นการแต่งร่วมกันระหว่าง Wildemuth และนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา แชเปลฮิลล์ (ในขณะนั้น)
ข้อแตกต่างของหนังสือเล่มนี้จากหนังสือระเบียบวิธีวิจัยด้านสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์อื่น ๆ คือ การเน้นไปที่ตัวอย่างเป็นสำคัญ กล่าวคือ ในแต่ละบทจะเริ่มต้นด้วยเกริ่นนำบรรยายข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีวิจัยเรื่องนั้น ๆ รวมไปถึงข้อแนะนำในเชิงปฏิบัติ ซึ่งในหลายบทมีการใช้ตัวอย่างเป็นตัวเชื่อมประเด็นเข้าด้วยกัน ในขณะเดียวกันก็ปิดท้ายด้วยการวิเคราะห์ตัวอย่างที่คัดสรรมาจากบทความวิชาการอย่างน้อย 2 ชิ้น ซึ่งการวิเคราะห์นั้นก็ชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นของการนำแต่ละวิธีวิจัยมาใช้ ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงข้อพิจารณา หรือข้อที่ควรปรับปรุง
เนื้อหาแต่ละบทนั้นไม่ยาวมากนัก (ประมาณ 10 หน้า)ในตอนท้ายสุดของบางบทก็จะมีการแนะนำหนังสือ และแหล่งสารสนเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากรายการอ้างอิงเพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจสามารถไปค้นคว้าต่อไปด้วยตนเองได้
กลุ่มเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะสามารถเป็นหนังสืออ้างอิง ตำราเรียนสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาแล้ว ผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศที่ต้องการพัฒนางานวิจัยภายในองค์กรก็สามารถนำหนังสือนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการอ่านแบบทั้งเล่มภายในครั้งเดียว (cover-to-cover) แต่ละบทออกแบบมาให้มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ดังนั้นในแต่ละส่วนผู้อ่านก็สามารถเลือกอ่านได้เฉพาะบทที่ตนเองสนใจหรือต้องการจะใช้
ปล. ผมไม่ได้รายได้โดยตรงจากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้แต่อย่างใด
รายการอ้างอิง
Dervin, B. (2003). Human studies and user studies: a call for methodological inter-disciplinarity. Information Research, 9(1). Retrieved from http://InformationR.net/ir/9-1/paper166.html
Wilson, T. (2002). ‘Information science’ and research methods. Retrieved from http://informationr.net/tdw/publ/papers/slovak02.html
น่าสนใจมากๆ เลยครับ
อยากอ่านบ้างจังเลยครับ
sawasdee-ka
น่าสนใจนะค่ะ
เนื้อหาแต่ละบทนั้นไม่ยาวมากนัก
อยากอ่านเเล้วค่ะ
ตอนนี้ทำวิทยานิพนธ์อยู่ค่ะ
ลองดูสารบัญใน Worldcat ดูก่อนก็ได้ครับ ถ้าสนใจบทไหนเป็นพิเศษ ลองส่งเมล์มาถามดูได้้ครับ ผมอาจจะพอหาฉบับ pre-print ให้อ่านได้
น่าสนใจมากค่ะ กำลังศึกษา trend ของสาขานี้อยู่ค่ะ