จรรยาบรรณและมารยาทของการเขียนบล๊อก

Published by

on

ผมเองก็ไม่ใช่ผู้รู้เรื่องบล๊อกมากกว่าคนอื่นหรอกนะครับ แล้วก็ไม่อยากเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนด้วย เหอ ๆ ๆ เพียงแต่ไปเจอคำถามของ รศ.นพ. จิตเจริญ บนบล๊อกของท่าน เกี่ยวกับ จรรยาบรรณกับการบันทึกเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็เลยคิดว่า อยากจะลองแลกเปลี่ยนมุมมองกับความรู้กับคนอื่น ๆ ดูนะครับ

คำถาม: จำเป็นต้องมีจรรยาบรรณ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการใช้ Blog หรือไม่

ถ้าคำว่า จรรยาบรรณ คือ ความหมายเดียวกับจรรยาบรรณที่ใช้ในวิชาชีพแพทย์ วิศวกร หรือนักสื่อสารมวลชน ที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อันนี้ก็คงจะไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพราะบรรดา blogger ส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักเขียนอาชีพ ที่เขียนก็มีแต่ความสนใจใคร่รู้เท่านั้น ที่เป็นแรงบันดาลใจในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความรู้

แต่ถ้าเป็นกฏ กติกา มารยาท ผมคิดว่ามันก็ควรจะมีกันบ้าง ถ้าเป็นการเขียนบันทึกส่วนตัวแบบสมัยก่อน ที่เขียนไว้อ่านคนเดียว จรรยาบรรณหรือกฏ กติกา มารยาทก็คงไม่จำเป็นต้องมี แต่การเขียนบล๊อกเป็นงานเขียนสาธารณะ ชุมชนคนเขียนส่วนใหญ่ก็ อาศัยความเชื่อถือ (trust) ในการสร้างชุมชนขึ้นมา สมาชิกในชุมชน หรือ บล๊อกเกอร์นั้นส่วนใหญ่ต้องการ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้” อย่างที่อาจารย์ว่านั่นแหละครับ แต่เพราะการเขียนบล๊อก เป็นการเขียนที่ไม่มีบรรณาธิการ ไม่ใช่ peer-review เพราะฉะนั้นมันไม่มีการเซ็นเซอร์ ไม่มีการตัดต่อ และก็ไม่มีการควบคุม ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สุดของอิสรภาพในการแสดงออก ในขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดอ่อนที่สุดของการควบคุม เพราะโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกออนไลน์ มันเชื่อมตรงถึงกัน คนดีก็มีอยู่มาก คนไม่ดีก็มีอยู่ไม่น้อย คนดีที่รู้จักใช้เทคโนโลยีก็มีมาก คนดีที่ใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรการเขียนบล๊อก เป็นการใช้เทคโนโลยีไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยไม่ให้สิทธิเสรีภาพที่ได้จากการเขียนบล๊อก ไปล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของคนอื่น และไม่เกิดปัญหาตามมา

อย่างไรก็ตาม การรักษามารยาท หรือปฏิบัติตามกฏ กติกา ถือเป็นเรื่องของชุมชนเป็นสำคัญ ผมมองว่าที่อาจารย์ถามมาก็จะเป็นมารยาทเฉพาะกลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นคนอ่านบล๊อกของอาจารย์ ชุมชนที่ทำงาน หรือชุมชนของคนใน gotoknow โดยรวม

คำถาม: ถ้าต้องมี/ควรมี จะมีอะไรบ้างครับ

มุมมองด้านจรรยาบรรณในการเขียนบันทึก ในปัจจุบันเกิดจากการปรับตัวของ 2 มุมมองเข้าด้วยกัน คือ จรรยาบรรณของนักข่าว และมารยาทการใช้อินเตอร์เน็ต (เช่น มารยาทในการสื่อสารผ่านอีเมล์ มารยาทในการใช้เว็บบอร์ด เป็นต้น)

มีนักวิชาการสื่อสารมวลชนสาย blog หลายกลุ่ม ได้พยายามคิดและพัฒนาจรรยาบรรณสำหรับบล๊อกเกอร์อย่างจริงจัง เช่น Cyberjournalist ได้ดัดแปลงจรรยาบรรณของสมาคมผู้สื่อข่าวอาชีพ (Society of Professional Journalist’s Code of Ethics) โดยให้หลักสำคัญอยู่ 3 ประการ ได้แก่ ซื่อตรงและเสมอภาค (Be Honest and Fair), พยายามลดความเสี่ยงอันจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง (Minimize Harm), และ สร้างความน่าเชื่อถือ (Be Accountable)

ในขณะเดียวกัน Dan Gillmor ผู้ก่อตั้ง Center of Citizen Media และผู้แต่งหนังสือ We the Media อันเลื่องชื่อ ได้เขียนเกี่ยวกับจรรยาบรรณของบล๊อกเกอร์ไว้ใน Handbook for Bloggers and Cyber-dissidents ตีพิมพ์โดย Reporters Without Borders ประเด็นที่ Dan Gillmor เขียนไว้ค่อนข้างจะอิงไปทางบล๊อกเกอร์สายสื่อสารมวลชนเสียมากกว่า แต่กระนั้นผมก็เห็นว่ามีประโยชน์ต่อการนำไปใช้เช่นเดียวกัน ซึ่งประกอบไปด้วย ความครอบคลุม (Thoroughness), ความถูกต้อง (Accuracy), ความเสมอภาค (Fairness), ความโปร่งใส (Transparency), และความเป็นอิสระ (Independence)

แรงผลักดันอันที่สอง ก็คือ มารยาทในการสื่อสารออนไลน์ (Netiquette) ซึ่งหนังสือของ Virginia Shea ชื่อ Netiquette เขียนอย่างครอบคลุมและน่าสนใจทีเดียวครับ ซึ่งผมขอยกเอา 10 กฏหลักในบทที่ 3 ของหนังสือมาแล้วกันครับ

  • Rule 1: Remember the human
  • Rule 2: Adhere to the same standards of behavior online…
  • Rule 3: Know where you are in cyberspace
  • Rule 4: Respect other people’s time and bandwidth
  • Rule 5: Make yourself look good online
  • Rule 6: Share expert knowledge
  • Rule 7: Help keep flame wars under control
  • Rule 8: Respect other people’s privacy
  • Rule 9: Don’t abuse your power
  • Rule 10: Be forgiving of other people’s mistakes

อย่างไรก็ตามทั้งนี้ ผมก็มองว่าก็ขึ้นอยู่กับตัวชุมชนเป็นหลัก ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็อย่างเช่นใน pantip.com เราก็จะเห็นว่า ทาง pantip เอง เค้าก็มีกฏระเบียบในการสร้างห้องเล็ก ห้องน้อยขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันก็ให้สมาชิกในชุมชนเป็นคนช่วยดูแล ตรวจตรา และตรวจสอบความเหมาะสม ต่อกฏ กฎิกามารยาท หรือใน blognone ก็มีกฏ กติกา มารยาทในการเขียนข่าว หรือนำเสนอเรื่องราว รวมไปถึงมารยาทในการนำเรื่องราวของ blognone ไปใช้บนบล๊อกของตัวเอง

แต่ที่ดูจะกลาง ๆ สำหรับบล๊อกเกอร์ทั่วไปก็เห็นจะเป็นข้อแนะนำของ Rebecca Blood ที่เขียนไว้ในหนังสือ the Weblog Handbook: Practical Advice on Creating and Maintaining Your Blog ก็มีด้วยกันทั้งหมด 6 ข้อครับ ก็ลองดูแล้วกันนะครับ ข้อความในวงเล็บก็เป็นข้อมูลที่ผมเพิ่มเติมมาเอง

  1. เขียนข้อเท็จจริงเฉพาะในสิ่งที่คุณเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริง
    (พยายามแยกข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นของคุณออกจากกัน และแน่นอนก็ต้องไม่นั่งเทียนเขียนข่าว ข้อนี้มีกรณีศึกษาล่าสุดที่ blogger ของ Wired ถูกจับได้ว่า นั่งเทียนเขียนข่าว)
  2. ถ้าเนื้อหาที่คุณอ้างถึงมีอยู่บนอินเตอร์เน็ท ก็ควรจะลิงค์ไปที่เนื้อหานั้น เมื่อคุณอ้างถึง นอกจากเป็นมารยาท คุณเองก็ดูเหมือนไม่ไปลอกงานเขียนใครมา คนอ่านก็จะเป็นคนตัดสินใจเอง ว่าเรื่องราวที่คุณเอามาเขียน เชื่อถือได้หรือไม่ แล้วก็ยังเป็นการสร้างเครือข่ายของสารสนเทศด้วย อีกยังเป็นการสร้างความโปร่งใสใน blog ของคุณเองอีกด้วย
  3. แก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดอย่างเปิดเผย เช่น แทนที่จะใช้การลบข้อผิดพลาด ก็ใช้วิธีการขีดฆ่า ให้คนอ่านได้เห็น เป็นต้น
  4. เขียนบล๊อกประหนึ่งว่าคุณจะไม่สามารถแก้ไขมันได้อีก; เพิ่มเติมก็พอได้ แต่อย่าเขียนใหม่หรือลบ entry ไหนออก อันนี้เป็นปัญหาเรื่อง integrity ของเครือข่าย โดยเฉพาะปัญหากับ search engine
  5. เปิดเผย conflict of interest ไม่่ว่าจะเป็นเรื่องวิชาชีพ การงาน หรือแม้แต่ธุรกิจ ถ้าจำเป็น เพราะจะช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับงานเขียนของคุณเอง
  6. ระบุแหล่งข้อมูลที่น่าสงสัยหรือมี bias หลายครั้ง ข่าวที่คุณเอามา ดูน่าสนใจ แต่ก็ฟังดูพิกล คุณก็ควรจะระบุให้ชัดเจนว่า ทำไมคุณถึงอ้างถึงแหล่งข้อมูล การให้บริบทกับเนื้อหาแต่ละเรื่องก็เป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากนี้การเขียนบล๊อกยังมีประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกฏหมายที่ต้องระวังกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหมิ่นประมาท (เช่น กรณีของ Brock Meeks ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้สื่อข่าวอินเตอร์เน็ตคนแรกที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นประมาท แต่เค้าก็จะชนะคดีมาได้ในที่สุด (Gillmor, 2004, หน้า 191)), ทรัพย์สินทางปัญญา (ล่าสุด Boston.com ก็เพิ่งจะไล่ blogger คนนึงออกเพราะไปลอกงานเขียนของคนอื่นมาลง – plagiarism) หรือแม้แต่กระทั่ง ความลับขององค์กรและความเป็นส่วนตัว

สำหรับคนที่อยากทราบแนวปฏิบัติแบบกลาง ๆ ผมแนะนำให้เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของ Electronic Frontier Foundation เค้ามีแนวทางปฏิบัติทางกฏหมายสำหรับการเขียนบล๊อกครับ มีหลายเรื่องเลยทีเดียว

รายการอ้างอิง

Blood, R. (2002). Weblog Handbook: Practical Advice on Creating and Maintaining Your Blog. Cambridge, MA: Perseus.

Gillmor, D. (2004). We the media: Grassroots jounalism by the people, for the people. Sebastopol, CA: O’Reilly.

Shea, V. (1997). Netiquette. Online ed. San Francisco, CA: Albion. Retrieved from http://www.albion.com/netiquette/

ปล. ขออนุญาตเยิ่นเย้อหน่อยนะครับ เพราะอยากให้พิจารณากันหลายมุมมอง อีกอย่างพักนี้เขียนโพสภาษาไทยน้อย เขียนทีก็เลยเหมือนอัดอั้นมาจากไหนไม่รู้ เหอๆๆ

ปล.2 กลับมาอ่านอีกที เพิ่งรู้ตัวเองว่าเขียนภาษาไทยไม่รู้เรื่อง … เหงอะ (-_-“)

8 ตอบกลับไปที่ “จรรยาบรรณและมารยาทของการเขียนบล๊อก”

  1. bact' Avatar

    ขอบคุณครับ
    อ่าน ๆ ๆ

  2. buiberry Avatar
    buiberry

    เราต้องเขียนบล็อกด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
    :) เข้ามาทักทายจ้า

  3. alwayslek Avatar

    Great!! I like “Rule 4: Respect other people’s time and bandwidth”

  4. siroz Avatar

    น่าสนใจดีครับ ขอบคุณสำหรับ link
    ผมคิดว่า จรรยาบรรณนักเขียน โดยทั่วไป น่าจะ apply กับ ิblogger ได้เลย เพราะ จริงๆ แล้ว blogger ก็น่าจะนับว่าเป็น นักเขียนน่ะแหละ (เรื่องอย่าง plagiarism หรือ มั่วนิ่ม น่าจะเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ใน common sense อยู่แล้ว)

  5. green Avatar
    green

    ขอโทษนะคะ อยากทราบว่าบล๊อกคืออะไรคะ พอดีอาจารย์ให้ไปหาข้อมูลแล้วไม่รู้ว่าจะไปหาที่ไหนแล้วก็ไม่รู้จักด้วย

  6. green Avatar
    green

    ใครใจดีช่วยตอบหนูหน่อยนะ

  7. iTeau Avatar

    ลองเข้าไปดูรายละเอียดใน Wikipedia ดีมั๊ยครับ น่าจะได้เป็น idea คร่าว ๆ แต่จริง ๆ แล้วขอบเขตของคำจำกัดความมันยังไม่นิ่งสนิทนะครับ ยังมีการถกเถียงกันอยู่ีในเชิงคุณสมบัติ แต่ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหาข้อมูลต่อได้นะครับ

  8. N'Off Avatar

    มีประโยชน์มากๆเลยค่า

ใส่ความเห็น