ติดตาม pm.go.th มาเป็นระยะ ๆ ไม่ได้ติดตามตลอด บังเอิญว่าวันนี้ เข้าไปอ่าน blog ของ Raymond Yee ย้อนหลัง ก็ไปเจอ post อันหนึ่ง เขียนเกี่ยวกับ ลิขสิทธิ์ของรูปภาพบน Flickr ของ whitehouse.gov ก็เลยได้พลันนึกถึง thaigov ของรัฐบาลไทยขึ้นมาเหมือนกัน
ประเด็นที่ผมสนใจมีอยู่ 2 เรื่อง
เรื่องแรก เป็นเรื่องลิขสิทธิ์ เนื่องจากเอกสารที่ผลิตโดยรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยมากจะตกเป็นของสาธารณะ (public domain) โดยปริยาย แต่ดูเหมือนว่า ด้วยความที่ Flickr ไม่มี option ให้เลือกคุณสมบัติของรูปให้เป็น public domain ก็เลยต้องใช้ attribution only ของ CC ไปแทน เพราะถือว่ามีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงที่สุด [ที่มา] แต่พอลองเช็คล่าสุด ปรากฏว่า Flickr สร้าง categories ขึ้นมาใหม่ให้ชื่อว่า United States Government Work และลิงค์คำอธิบายไปที่เว็บ usa.gov ซึ่งอธิบายว่า
A work that is a United States Government work, prepared by an officer or employee of the United States Government as part of that person’s official duties, is not subject to copyright in the United States and there are no U.S. copyright restrictions on reproduction, derivative works, distribution, performance, or display of the work. Anyone may, without restriction under U.S. copyright laws,
- reproduce the work in copies in print or in digital form;
- prepare derivative works of the work;
- perform the work publicly;
- display the work;
- distribute copies or digitally transfer the work to the public by sale or other transfer of ownership, or by rental, lease, or lending.
โดยมีข้อยกเว้นข้างท้าย หลัก ๆ ก็คือ ไม่ครอบคลุมงานทุกชิ้นที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของรัฐ (โดยเฉพาะที่มาจาก third party) หลัก ๆ ก็ต้องเป็นงานของรัฐบาลกลางเท่านั้น และอาจไม่ครอบคลุมเมื่อเอาไปพิจารณาในบริบทระหว่างประเทศ
ในเว็บ whitehouse.gov ก็เขียนไว้ชัดเจนเหมือนกัน ว่าข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บเป็น public domain (เนื่องจากถือว่าเป็นของรัฐบาลกลาง) เว้นแต่หากระบุเป็นอย่างอื่น ก็จะเป็น CC ไป
กลับมาที่บริบทของไทย ดูเหมือนว่าในเจตนานั้นไม่แตกต่างกันมาก แต่ดูเหมือนว่าจะมีความคลุมเครือมากกว่า ตัวบทที่สำคัญนั้นอยู่ในมาตรา 7 ของ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แล้ว ซึ่งว่าไว้ดังนี้
มาตรา ๗ (งานอันไม่มีลิขสิทธิ์)
สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(๑) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(๒) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(๓) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(๔) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(๕) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (๑) ถึง (๔) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
[ที่มา: wikisource]
ประเด็นก็คือ ข้อมูลบนเว๊บไซต์ pm.go.th และรูปภาพบน Flickr (รวมไปถึง twitter ของนายก) นั้น เข้าข่ายมาตรา 7 ด้วยหรือไม่
หากใช่ จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องใช้ครีเอทีฟ คอมมอนส์สำหรับงานของรัฐ เท่าที่ผมพิจารณา (ด้วยตัวเอง) คิดว่า เนื้อหาบนเว็บไซต์ น่าจะเข้าข่ายข้อ (๑) เสียส่วนมาก รวมไปถึงวิดีโอต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้ หากข้อมูลเหล่านี้ตกเป็น public domain อยู่แล้ว การที่ประกาศใช้ creative commons ถือการกำหนดทับซ้อนหรือไม่ ผิดกฏหมายหรือเปล่า หรือมีกฏหมายใดรองรับการใช้ creative commons สำหรับข้อมูลภาครัฐหรือไม่ (i.e., จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีกฏหมายรองรับ) [ปล. ผมเองยังไม่เข้าใจประเด็นในเชิงกฏหมายดีพอ ต้องขอคำชี้แนะ]
แต่หากข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ public domain แต่ถือครองตามมาตรา ๑๔ (ลิขสิทธิ์ในงานที่หน่วยงานของรัฐจ้างให้ทำ) ผมเข้าใจว่า การระบุว่า “เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร” น่าจะเป็นข้อยกเว้นสำหรับ creative commons ได้ ซึ่งดูเหมือนเป็นช่องทางเดียวที่ผมพอจะมองเห็น แต่ในกรณีนี้หมายความว่า คนเขียนบทความ (ไม่แน่ใจว่าคนเขียนข่าวจะได้หรือไม่) คนถ่ายภาพ คนถ่ายวิดีโอ ก็ต้องไม่ใช่ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ แต่ถูกจ้างโดยรัฐมากกว่า
ณ ปัจจุบัน pm.go.th ระบุชัดเจนว่า เนื้อหาทั้งหมด ตกอยู่ในอนุสัญญาครีเอทีฟ คอมมอนส์ แบบแสดงที่มา 3.0 ประเทศไทย ในขณะที่รูปบน Flickr เลือกใช้ Creative Commons Attribution 2.0 Generic ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน พอเป็นเช่นนี้ ผมก็เลยไม่แน่ใจว่า แสดงว่าคนผลิตเนื้อหาบน pm.go.th และรูปภาพบน Flickr ก็ไม่น่าจะเป็นคนของรัฐบาล แต่เป็นคนของรัฐบาลที่จ้างมาให้ทำเนื้อหา (หรือเปล่า)
ส่วนประเด็นที่สอง มาจากประเด็นการอนุรักษ์ข้อมูล (preservation) ถึงแม้ว่าเมืองไทยจะยังไม่มี พรบ. ตัวไหนในการกำหนดวิธีปฏิบัติในเชิงการจัดเก็บอนุรักษ์เอกสารและข้อมูล (ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม) อย่างไรก็ตามใน พรบ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 26 ระบุไว้ว่า โดยปรกติเอกสารของทางราชการ หน่วยงานจะต้องจัดเก็บเอกสารไว้ 75 ปี ก่อนส่งให้กับ “หอจดหมายเหตุแห่งชาติกรมศิลปากรหรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา” เว้นแต่เป็นเอกสารที่ห้ามเปิดเผยตามหมวด 2 (ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย) จะต้องเก็บไว้ 20 ปี หรือขยายกำหนดเวลาได้เป็นกรณี ๆ ไป แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยมีการเอาจริงเอาจังกับประเด็นนี้เท่าไหร่
การทำลายเอกสารของทางราชการ หรือทำให้สูญหาย ถือเป็นความผิดทางอาญา ปัญหาก็คือ จะทำอย่างไรที่จะให้ข้อมูลเหล่านี้ (รวมไปถึงข้อมูลบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม กองต่าง ๆ) ไม่ถูกทำลายก่อนเวลาที่กำหนด หากหน่วยงานไม่มีการ back up ข้อมูลรูปภาพและจัดเก็บให้เป็นระเบียบ และวันหนึ่งเว็บ Flickr เกิดล่มหรือเสียหายขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ
การที่เราไม่มีกระบวนการในการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ณ ปัจจุบัน ผมก็ไม่แน่ใจว่า รูปหรือวิดีโอที่ถูกถ่ายทั้งหมด จัดเก็บไว้อย่างไร มีคนกลางจัดเก็บหรือไม่ เชื่อแน่นอนได้ว่า รูปที่ upload ขึ้นบน Flickr นั้นเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะฉะนั้นรูปที่เราไม่เห็นนั้นอยู่ที่ไหนอย่างไร หากต้องการจะดู จะขอดูได้จากที่ไหน (ย้อนกลับไปประเด็นเดิม — แล้วรูปที่ไม่ได้เอาขึ้นเหล่านั้น ตกอยู่ภายใต้อนุสัญญาครีเอทีฟ คอมมอนส์หรือไม่ หรือว่าเป็น public domain :D)
ผมเข้าใจดีว่าการเลือกใช้ Flickr ในการแสดงรูปภาพ น่าจะมีเหตุผลทั้งในเชิงความนิยมและความสะดวก แต่การที่อนุญาตให้มี comment นั้นก็ทำให้มีข้อสงสัยตามมา กล่าวคือ หากมีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นในรูปหนึ่ง ๆ ความคิดเห็นนั้น ๆ จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาด้วยหรือไม่ หากใช่ จะมีวิธีการจัดเก็บรักษาอย่างไร อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาสำคัญของการใช้ Flickr ที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น คือ การจำกัดมีส่วนร่วมอยู่ในหมู่คนใช้ Flickr เท่านั้นหรือไม่? ถึงแม้ว่าเราจะสามารถ download รูปได้จาก Flickr ได้อย่างง่ายดายก็ตาม แต่เฉพาะคนที่เป็นสมาชิกของ Flickr เท่านั้นจะสามารถแสดงความคิดเห็นในแต่ละรูปได้ ในทางตรงกันข้าม การที่เลือกใช้ Flickr จะถือว่าเป็นการลำเอียงหรือไม่ ในขณะที่ยังมีทางเลือกทางอื่น
นอกจากนี้ที่ผมรู้สึกตะขิดตะขวงใจอีกนิดหน่อย ก็คือ การที่แต่ละรูปไม่มี tag เลย จริงดูที่ดูเหมือนว่าคนที่ upload จะพยายามใส่ caption ให้ได้รายละเอียดมากที่สุด แต่การไม่ใส่ tag ก็ทำให้ขาด function ที่สำคัญไป นั่นก็คือ collocation ซึ่งปัจจุบัน ทำได้แต่เพียงในลักษณะของ collection กับ set เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถทำได้ในลักษณะ multifacet แต่กระนั้นถ้าหากนำ tag เข้าไปใส่ก็เป็นปัญหาเหมือนกับ comment อีกว่า tag เหล่านั้น ถือเป็น เนื้อหาของรัฐด้วยใช่หรือไม่ และจะจัดการดูแลมันอย่างไร
ผมมองว่า การมองในมุมของ CC คือการเปิดเผย ซึ่งปกติแล้วจะมองคนสวนทางกันกับเรื่องลิขสิทธิ์ครับ
เนื้อหาและภาพบน pm.go.th และ flickr นั้นทีมงานผู้ผลิต สนับสนุนให้เกิดการเปิดเผยผลงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่ จึงเลือกใช้ CC เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ ซึ่งเป็นประชาชน เหมือนกับทีมงานเช่นกัน
การเลือกเทคโนโลยี และ website ที่ใช้ อาจมองในมุมการเลือกปฏิบัติได้ แต่เรามองที่ความเหมาะสมกับงบประมาณกับประสิทธิภาพ และสะดวกของผู้ใช้เป็นหลัก และทีมงานมีแผนรองรับกรณีวิกฤตต่างๆ แล้วเช่นกัน
สำหรับในเรื่องรูปภาพ และรายการ “นายกตอบคำถาม” นั้น หากมีใครเห็นว่าถูกกีดกัน หรือได้รับสิทธิ์ไม่เท่าเทียมกัน ขอให้แจ้งมาที่ทีมงานได้ครับ (หรือเมล์ผมก็ได้)
อาจต้องบอกให้ทราบโดยตรงก่อนว่า ผมเชื่อว่าจริง ๆ แล้วโดยทางปฏิบัติ CC และ Flickr นั้นก็เหมาะสม ผมเองก็เห็นด้วยและสนับสนุน (อาจเป็นเพราะผมเองก็เห็นด้วยกับการเปิดเผยและเป็นผู้ใช้ Flickr) เพียงแต่อยากตั้งข้อสังเกตุ เผื่อสามารถที่จะนำไปใช้คิดต่อ หรือพัฒนางานต่อไปครับ
1) กล้า: CC ไม่ได้สวนทางกับลิขสิทธิ์นะ ถ้างานไม่มีลิขสิทธิ์ ก็มี CC ไม่ได้ – ทั้งสองอย่างไปในทางเดียวกัน
2) iTeau: เห็นด้วยครับ ตาม (1) ถ้างานไม่ถูกคุ้มครองโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ (เป็นสมบัติสาธารณะ) ก็มีสัญญาอนุญาตไม่ได้ ไม่ว่าจะ CC หรือสัญญาอนุญาตแบบใดก็ตาม
3) ประเด็นลิขสิทธิ์ ความเห็นของผมคือ รูปภาพใน Flickr รายการนายกตอบคำถาม และบทความในบล็อกใน pm.go.th เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ เนื่องจากเป็นงานอันมีลักษณะศิลปะหรือวรรณกรรม เช่น บทรายการ
4) ส่วนพอมีลิขสิทธิ์แล้ว ใครจะเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ – โดยทั่วไป ในสัญญาว่าจ้างต่าง ๆ หากไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ว่าจ้าง ซึ่งก็สอดคล้องกับมาตรา 14 ที่ iTeau ได้ตั้งข้อสังเกต:
“มาตรา 14 (ลิขสิทธิ์ในงานที่หน่วยงานของรัฐจ้างให้ทำ)
กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร”
5) ประเด็นการอนุรักษ์ข้อมูล ผมว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและจำเป็นต้องคิดหาทางต่อไป ถ้าอยากจะพัฒนาให้ pm.go.th/thaigov ให้เป็นเว็บไซต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องต่อไป ไม่ใช่เป็นเพียงเว็บไซต์ชั่วครู่ชั่วยาม (ซึ่งมีเยอะแยะเต็มไปหมดตอนนี้)
6) ประเด็นเรื่อง ความเห็นท้ายภาพ ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ต้องจัดเก็บหรือไม่ ก็น่าสนใจ ถ้าถือว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพนายกรัฐมนตรี และการส่งความเห็นนั้นเป็นการสื่อสารกับนายกรัฐมนตรี – กรณีนี้ถ้าเป็นในสหรัฐอเมริกา จะถือว่าเข้าข่ายการสื่อสารตาม Presidential Records Act หรือไม่ – สำหรับกรณีประเทศไทย จะเทียบเคียงกับกฎหมายข้อใดได้บ้าง?
full disclosure:
* ผมทำงานให้กับ บริษัท โอเพ่นดรีม ซึ่งพัฒนาตัว web engine (ฐานบน Drupal) ของ pm.go.th
* อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผมไม่ทราบรายละเอียดสัญญาว่าจ้างในส่วนของเนื้อหาซึ่งรวมถึงรูปภาพ ข้อสังเกตต่าง ๆ ข้างต้นจึงเป็นเพียงความคิดเห็นทั่วไป อ้างอิงตามกฎหมายลิขสิทธิ์และลักษณะสัญญาจ้างปกติ ซึ่งสัญญาจ้างจริง ๆ ในกรณีนี้อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยและข้อยกเว้นต่างไปครับ
ประเด็นเชื่อมโยงกับเรื่อง พรบ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 26 เรื่องการจัดเก็บเอกสารราชการ ที่ iTeau ตั้งข้อสังเกตไว้
ผมคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่มากกว่านี้จริง ๆ ในกระแส “Digital Thailand” + “Go Green” ณ เวลานี้ ที่พยายามจะลดการใช้เอกสารกระดาษ ไปใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น แต่ตัวระเบียบและระบบในการจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ได้รับการพัฒนา
ตัวผมเคยมีประสบการณ์ขอดูเอกสารซึ่งรวมถึงอีเมลติดต่องานราชการของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง โดยใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ดังกล่าว และคณะอนุกรรมการข้อมูลข่าวสารฯที่รับผิดชอบ วินิจฉัยมีคำสั่งให้หน่วยงานดังกล่าวเปิดเผยข้อมูลที่ร้องขอ แต่คณะอนุกรรมการฯได้รับคำตอบจากหน่วยงานดังกล่าวว่า ได้ลบอีเมลดังกล่าวทิ้งไปแล้วและไม่สามารถกู้คืนได้ จึงไม่สามารถเปิดเผยได้ :(
ตามนี้แล้ว ถ้าเรื่องการอนุรักษ์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่รับการพัฒนา ยิ่งเรา โกดิจิทัลมากเท่าไหร่ ก็อาจจะยิ่งโปร่งใสตรวจสอบได้น้อยลงเท่านั้น :(
bact’
บ้านเรา ผมว่าไม่น่าจะมีกฏหมายที่สามารถเทียบเคียง Presidential Records Act นะครับ เอาแค่ Record Management ยังอ้างอิงกันลำบากเลยครับ ผมได้ข่าวว่ามีการพยายามผลักดัน พรบ.จดหมายเหตุ แต่เท่าที่ผมอ่านเจตนาของ พรบ. ก็ไม่ใช่ประเด็นที่เราพูดถึงกันอยู่ตอนนี้เสียทีเดียว แต่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นได้
ที่ bact’ พูดถึงเรื่อง อีเมล์ในบริบทการอนุรักษ์ข้อมูลก็น่าสนใจครับ อีเมล์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนครับ เพราะอีเมล์ไม่เหมือนกับคำสั่ง ประกาศ หรือหนังสือของทางราชการทั่วไป ไม่ได้มีการควบคุม ใครจะใครส่ง ส่ง แล้วเนื้อหาของอีเมล์ก็กระจัดกระจาย บางคนใช้อีเมล์ที่ทำงานกับเรื่องส่่วนตัว โดยหารู้ไม่ว่ามันอาจกลายเป็นเอกสารราชการไปแล้ว (แต่อาจจะต้องดูประเด็นที่เกี่ยวข้องใน พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล อันใหม่เพิ่มเติม ซึ่งผมก็ยังไม่ได้ดูเลยครับ)
ปัญหาการเก็บอนุรักษ์ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกเหนือจากบริบทบริหารจัดการประเทศแล้ว (สร้างความโปร่งใสให้กับองค์กรแล้ว) ยังรวมไปถึงบริบทต่อการวิจัยด้วย โดยเฉพาะการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์
ความพยายามที่จะให้ใช้ mail.go.th ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในเรื่องการจัดเก็บได้
แต่คงต้องพัฒนาจากตรงนั้นอีก เพราะถ้าดูจากเจตนาในการริเริ่มแล้ว
http://mail.go.th/?action=minis
น่าจะมาจากมุมมองของก ความลับ/มั่นคง/ปกปิด มากกว่า ตรวจสอบ/วิจัย/เปิดเผย
เช่นเดียวกับตัวร่างพ.ร.บ.จดหมายเหตุแห่งชาติ
ผมพบว่าตัวต้นฉบับ ร่างพ.ร.บ.จดหมายเหตุแห่งชาติ ที่ค้นเจอในเน็ต อ่านลำบากมาก
เลยเอามาทำเป็น PDF ขออนุญาตฝากลิงก์ไว้ที่นี่ เผื่อมีผู้สนใจนะครับ
http://thainetizen.org/node/704
ไม่เคยทราบเรื่อง mail.go.th มาก่อน น่าสนใจทีเดียวครับ เห็นด้วยที่ว่าทำให้หน่วยงานของรัฐควบคุม “ความเป็นราชการ” ของเอกสารได้โดยตรง นั่นหมายความว่า ถ้าหากจะพัฒนาให้เกิดการเปิดเผยมากขึ้น ก็น่าจะลำบากน้อยลง
ประเด็นก็คือ กระบวนทัศน์ของการเปิดเผยของเอกสารราชการ มันเป็นแบบปิดมาก่อนเปิด ซึ่ง practical มากกว่าในมุมมองเอกสารแบบเดิม แต่เมื่อเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์/ออนไลน์ กระบวนทัศน์แบบ “เปิดมาก่อนปิด” มีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ในเมืองไทย
ขอบคุณมากสำหรับ link ของ ร่าง พ.ร.บ. ผมเคยคิดว่าจะเขียนถึงเมื่อนานมาแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสเสียที มีหลายประเด็นที่น่าจับตามองเหมือนกัน
สวัสดี iTeau แวะเข้ามาอ่าน ไม่ได้เข้ามาอ่านนานแล้วเหมือนกันนะ เป็นไงบ้างสบายดีนะ อากาศหนาวดีไหมละ แล้วจะเรียนจบเมื่อใดละ
เรื่องเอกสารบ้านเรามีปัญหามากมาย นี่ก็พยายามทำของที่ทำงานอยู่ ในส่วนกระดาษมีแววว่าจะดี แต่ ในส่วนดิจิทัลยังมีไม่ค่อยแน่ใจ ยังมึนๆ หาทางออกให้ไม่ได้เลย พรบ.ที่รองรับมีแล้ว ไม่รู้ว่าประเด็นนี้ในกระบวนการของศาลยอมรับได้มากน้อยเพียงใด แต่อย่าลืมว่าเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนเสมอ แล้วต้องใช้เครื่องอ่าน แล้วถ้าวันใดไม่มีพลังงานไฟฟ้าให้ใช้จะทำกันอย่างไรต่อไป คงต้องให้อนาคตตัดสินด้วย