มาตรฐานห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเชิงเปรียบเทียบ

Published by

on

คุณคนทำงานห้องสมุด มาถามผมใน post เรื่อง ความคลุมเครือของมาตรฐานห้องสมุด เกี่ยวกับมาตรฐานห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา เขียนไปซักพัก เริ่มยาวอีกแล้ว ก็เลยขอมาตอบเป็น post ใหม่นี้เลยละกัน เผื่อจะได้เป็นการแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ๆ ไปในตัวนะครับ

ก่อนเหนืออื่นใด ผมต้องออกตัวก่อนเลยว่า ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติ (guideline) สำหรับห้องสมุด (ต่อจากนี้ไปใน post นี้ ขออนุญาตไม่ใช่คำว่า “มาตรฐาน” นะครับ เพราะส่วนตัว สิ่งที่ผมกำลังจะอธิบายต่อไปนี้ ผมไม่อยากเรียกมันว่า “มาตรฐาน” ถึงแม้ว่า มันจะถูกนำมาใช้กันไปเรื่อยเปื่อยมานานแล้ว)

แน่นอนว่า ถ้าจะเริ่มต้นหาข้อมูลด้านนี้ ก็ต้องไปตามพวกสมาคมห้องสมุดต่าง ๆ แน่นอน ด้วยข้อจำกัดด้านภาษา ทำให้ผมสามารถแนะนำได้เพียง ไม่กี่ประเทศ ซึ่งก็ได้แก่ ACRL (Association of College and Research Libraries ซึ่งเป็นสมาคมลูกของ ALA อีกทีหนึ่ง) ในอเมริกา,​CILIP (Chartered Institute of Library and Information Professionals) ของอังกฤษ และสุดท้ายก็ ALIA (Australian Library and Information Association)

ถ้าหากเข้าไปใน ACRL จะเห็นได้ว่าเค้ามีเอกสารเกี่ยวกับแนวปฏิบัติยิบย่อยเต็มไปหมด แต่อันที่น่าจะใกล้เคียงกับความต้องการของคุณ คนทำงานห้องสมุดมากที่สุด ก็น่าจะเป็นสองอันนี้

เท่าที่อ่านดูจากเอกสารทั้งสองชิ้น ก็จะเห็นว่า เค้าก็ไม่ได้เขียนชี้ชัดว่าจะต้องใช้พื้นที่หรือทรัพยากรเท่าไหร่ เพียงแต่บอกว่า จะต้องใช้ปัจจัยหรือเกณฑ์ในด้านใดบ้างในการพิจารณา ซึ่งส่วนที่น่าพิจารณาเป็นพิเศษ คือ การใช้ในลักษณะคล้าย ๆ กับ benchmarking คือ ห้องสมุดจะต้องหา peer libraries (ห้องสมุดอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน) แล้วก็นำมาเปรียบเทียบ ซึ่งข้อนี้ี่ ถ้ามองในเชิงกลยุทธ์ เราก็จะเห็นกลาย ๆ ว่า เป็นการพยายามสร้างสภาพของการแข่งขันให้เกิดขึ้น เพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นแล้ว พอห้องสมุดไหน ผ่านเกณฑ์แล้ว ก็จะได้แต่ย่ำอยู่กับที่

สำหรับในอังกฤษ CILIP เค้าก็มีการพูดถึง Higher education provision in further education institutions ไว้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าจะเป็นเรื่องแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ก็คงต้องไปดูที่ เอกสารเรื่อง indicators of good practice ของเค้าดู จะเห็นได้ว่า การพิจารณาแนวปฏิบัติของเค้านั้นก็เป็น self-assessment ซึ่งข้อดีก็คือ การมองตัวเราเองให้ถ่องแท้ ดังนั้นเค้าไม่เน้นเรื่อง การเปรียบเทียบเรื่อง space เท่าไหร่ แต่จะเน้นหนักไปมากด้าน collection และการบริหารจัดการ แนะนำให้ดาวน์โหลด checklist ไปพิจารณากันดู เป็น checklist ที่ดูเหมือนง่าย แต่ตอบยากเหมือนกัน เพราะบางข้อก็เป็นคำถามที่กว้างมาก แต่ให้ตอบแบบผ่ากลางไปเลยว่า ใช่หรือไม่ใช่

ส่วนใน Australia ผมก็ลองเข้าไปหาในเว็บไซต์ของ ALIA แล้ว ก็ไม่พบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา อาจจะเป็นไปได้ว่าผมหาไม่ดี หรือเค้าไม่มีจริง ๆ อันนี้ก็ไม่ทราบได้

ขอนอกเรื่องอีกนิดนึง ถ้าโดยทั่วไป ผมอยากจะแนะนำให้คนที่สนใจเรื่อง “มาตรฐานห้องสมุด” ผมอยากให้เข้าไปอ่าน งานด้าน “มาตรฐาน” ของหอสมุดแห่งชาติออสเตรเลีย ดูครับ หลายคนอาจจะเข้าใจมากขึ้นว่า คำว่า มาตรฐาน แบบ concrete ของผม นั้นเป็นยังไง

ถ้าพอจะเก่งภาษาอื่น นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ (และภาษาไทย) แล้วเนี่ย ผมก็คิดว่าน่าจะลองไปตามสมาคมห้องสมุดของแต่ละประเทศดูครับ น่าจะมีตัวอย่างที่น่าสนใจพอสมควร

หรือไม่เช่นนั้น ผมก็คงจะแนะนำให้ลองหาบทความในวารสารวิชากา รหรือ รายงานการประชุมทางวิชาการดู (โดยเฉพาะใน IFLA) เพราะมีคนที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับ มาตรฐานห้องสมุดของแต่ละประเทศ ในเชิงเปรียบเทียบ อยู่พอสมควร

นอกจากการอ้างอิงมาตรฐานแล้ว ผมก็อยากจะแนะนำ ให้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบห้องสมุด มีที่อยากแนะนำอยู่เล่มหนึ่ง ผมเคยใช้อ้างอิงสมัยอยู่ที่ TCDC ผมเองก็จำชื่อเรื่องก็ไม่ได้ จำได้อยู่อย่างเดียว คือ หน้าปกสีเขียว เล่มหนามาก (นี่แหละครับ นักอ่านตัวจริง อ่านแล้วจำชื่อหนังสือไม่ได้ -_-” ) เอาไว้เดี๋ยวผมจะลองถามคนที่ TCDC ให้อีกที แล้วจะมาบอกกล่าวให้ทราบนะครับ

อย่างไรก็ตาม ที่เขียนถึงมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการตอบข้อสงสัย ของคุณคนทำงานห้องสมุดเท่านั้นนะครับ ไม่ได้หมายความว่า ผมบอกว่าแนวปฏิบัติของห้องสมุดในต่างประเทศจะดี หรือควรนำไปเป็นแบบอย่างแต่อย่างใด เพราะสำคัญมันอยู่ที่ คนใช้/ลูกค้า เจ้านาย และคนทำงานอย่างเรา ๆ เองนั้นแล จะเป็นคนตัดสินใจสุดท้าย ว่าอะไรเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม

จริงมั๊ยครับ เจ้านาย…

4 ตอบกลับไปที่ “มาตรฐานห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเชิงเปรียบเทียบ”

  1. P'Ngaew Avatar
    P’Ngaew

    ถ้าหนังสือด้านการออกแบบห้องสมุดใช่เล่มนี้หรือเปล่าคะ Planning academic and research library buildings by Leighton, Philip D., Weber, David C., 1924-
    Chicago : American Library Association, c2000.
    3rd ed.
    Contents: Library requirements and the planning process — The alternatives to a new library building — Planning preliminaries — The planning team, with architect and consultants — General programming — Programming: housing the collections — Programming: accommodations for readers and collections — Programming: space for staff and general purposes — Budgeting and expense control — Building additions and renovations — Master planning and siting — Schematic considerations — Design development — Construction documents — Bidding, business concerns, and construction — Activation.
    ISBN: 0838907474

    ถ้าใช่หนังสือนี้มีอยู่ที่ห้องสมุด ม.ชินวัตร ค่ะ ที่คิดว่ามีที่ TCDC เพราะยืมเค้ามาใช้ตอน set up ค่ะ

  2. P'Ngaew Avatar
    P’Ngaew

    อ้อ! ลืมยืนยันไปค่ะว่า เล่มที่ว่านี้ปกสีเขียวและหนา จริง ๆ ยืนยันด้วยการไปที่ link นี้นะคะ
    เข้าไปเช็คเผื่อมีเล่มใหม่กว่านี้ก็ไม่พบทั้งใน ala และamazon แต่มีเล่มที่น่าสนใจเพิ่มเติมที่ขายคู่กับเล่มนี้ใน amazon ชื่อ Checklist of Library Building Design Considerations พิมพ์ปี 2003.

  3. projectlib Avatar
    projectlib

    เห็นด้วยนะครับว่าเราควรวัดจากผู้ใช้มากกว่าวัดกันที่พื้นที่
    เท่าที่ทำงานในห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา
    เกณฑ์ในการวัดของเรา มักจะอิงกับการวัดจำนวนทรัพยากรต่อผู้ใช้งานเช่น
    นักศึกษา 1 คน ต่อหนังสือจำนวนหนึ่ง
    การวัดแบบนี้ผมว่าเป็นการวัดเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพนะครับ

  4. Yui Avatar
    Yui

    ถ้ามีเวลา…เล่าให้ฟังถึงเรื่องPublic Lib.บ้างนะคะที่เมืองไทยมปัญหามากมาย ที่นั่น มีปัญหาแบบนี้บ้างมั๊ย อยากรู้จัง

ใส่ความเห็น