วันนี้ไปฟังบรรยายของ Michael Zimmer (ปัจจุบันเป็น Microsoft Fellow อยู่ที่ Information Society Project ของ Yale Law School) เรื่อง Google’s Faustian Bargain (ปล. เปิดดูจากพจนานุกรม เค้าบอกว่า Faust นี่เป็นตัวละครในตำนาน ที่ยอมแลกหัวใจให้ซาตาน เพื่อแลกมาซึ่งกับความรู้) ซึ่งเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ ด้าน media, culture, and communication จาก NYU
หลัก ๆ ของการบรรยาย ก็คือ ชี้ให้เห็นภาพของการได้มาซึ่ง search engine ที่สมบูรณ์แบบ แต่ต้องยอมแลกเปลี่ยนกับข้อมูลส่วนตัว และพยายามโยงไปถึงอิสรภาพ ทั้งในเชิงกายภาพ สติปัญญา และดิจิตอล (เจ้าตัวบอกว่า ยังหาคำนิยามที่ดีกว่า คำว่า “ดิจิตอล” ไม่ได้ เพราะมันก็ไม่ใช่เสียทีเดียว)
ประเด็นแรกที่ Michael ชี้ให้เห็นก็คือ บริบทในปัจจุบัน การที่จะได้มาซึ่ง search engine ที่สมบูรณ์แบบได้นั้น ตัว search enging จำเป็นจะต้องนำเสนอทั้งความลึก ความกว้าง ประสิทธิภาพ และความถูกต้อง สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน (relevancy) อาศัยบริบทและเจตนาเป็นสำคัญ เพื่อที่ระบบสามารถเรียกคืน (recall) และเรียนรู้สิ่งที่ผู้ใช้เป็นและต้องการ วิธีการที่จะได้มา ก็คือ ต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ใช้ พฤติกรรมการค้น และเป้าประสงค์ ให้ได้มากที่สุด นั่นก็คือจาก transaction log, cookies หรือแม้แต่กระทั่งจาก profile ของผู้ใช้
ด้วยเหตุนี้เอง Michael จึงใช้เหตุข้างต้น อ้างว่า เป็นที่มาของการที่ Google พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด ข้อมูลการค้นและการใช้งานเหล่านี้้ John Battelle เรียกว่าเป็น Database of Intentions
“a place holder for the intentions of humankind – a massive database of desires, needs, wants, and likes that can be discovered, supoenaed, archived, tracked, and exploited to all sorts of ends.”
“เป็นแหล่งจัดเก็บรวบรวมเจตจำนงต่าง ๆ ของมวลมนุษยชาติ – ฐานข้อมูลขนาดมหาศาลที่จัดเก็บความปรารถนา ความจำเป็น ความต้องการ และความชอบที่สามารถถูกค้นพบ เรียกค้น บันทึกจัดเก็บ ติดตาม ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์นานัปการ” (แปลโดยผู้เขียน)
ในขณะเดียวกันผู้ใช้ (ในอเมริกา) ก็เริ่มตระหนักว่า ข้อมูลของตนเอง ถูกเก็บไว้ ในขณะเดียวกันกระแสของการควบคุม ตรวจตรา (surveillance) ก็เพิ่มมากขึ้น มีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ ที่ชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลของผู้ใช้ถูกเก็บโดยไม่บอกกล่าว และจะถูกนำไปใช้เมื่อไหร่ก็ได้ เช่น กรณีของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐร้องให้ Google ส่งข้อมูลการค้น หรืออย่างเมื่อปีที่แล้ว ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ทรายใหญ่ของอเมริกาอย่าง AOL นำเอาข้อมูลของผู้ใช้มาเผยแพร่บนเว็บไซต์ โดยไม่ได้รับการบอกกล่าว (อ่านเพิ่มเติมที่ TechCrunch)
นอกจากนี้การจัดเก็บข้อมูลการค้นของผู้ใช้ ก็ดำเนินไปอย่างไม่เป็นที่รับรู้ และทำให้ผู้ใช้หลงเชื่อและเข้าใจว่า ข้อมูลของตัวเองไม่ถูกจัดเก็บ ไม่มีร่องรอยแต่อย่างใด
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของทั้งสองประเด็น จึงเป็นที่มาของ Faustian Bargain ของ Google และตั้งคำถามต่อว่า ในเมื่อมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถานการณ์แบบใดจึงจะเป็นสถานการณ์ที่เหมาะสมที่สุด สิ่งที่ Michael เน้นก็คือ การที่นักออกแบบระบบ ควรจะต้องคำนึงถึงประเด็นด้านสิทธิส่วนบุคคล ในบริบทที่กว้างมากขึ้น นอกเหนือจากการมองเพียงแต่ในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งในการศึกษาบริบทต่าง ๆ เหล่านี้ จะต้องอาศัยการบูรณาการของศาสตร์ สาขาต่าง ๆ ที่เน้นไปที่การศึกษาวัฒนธรรมและสารสนเทศ โดย Siva Vaidhyanathan ตั้งชื่อสาขาใหม่นี้ว่า Critical Information Studies
ทีนี้ในการวิเคราะห์ผลกระทบในเชิงคุณค่า Michael ใช้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ในการเคลื่อนที่ (Sphere of mobility) มาใช้กำหนดขอบเขต และจัดกลุ่มผลกระทบ ซึ่งได้แก่
- พื้นที่ทางกายภาพ (Physical) หลักก็ได้แก่ การเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ทางกายทั่วไป เช่น การเดินทาง การใช้อวัยวะ โดยเมื่อนำเอามุมมองของ Faustian Bargain มาใช้ ก็จะตัวอย่างของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ระบบจ่ายเงินทางด่วนอัตโนมัติ เป็นต้น
- พื้นที่ทางสติปัญญา (Intellectual) เช่น การเข้าถึงความรู้, อิสรภาพในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ, และสิทธิส่วนบุคคล ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในหมวดนี้ ก็ได้แก่ ระบบฐานข้อมูล เทคโนโลยี RFID หรือแม้แต่กระทั่งแนวคิด Library 2.0 เอง
- พื้นที่ทางดิจิตอล (Digital) ได้แก่ การเคลื่อนที่ภายใน หรือข้ามเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครือข่าย, การรักษาการเคลื่อนที่ทางกายภาพ และสติปัญญาในสภาพแวดล้อมเครือข่าย, และการสนับสนุนการเคลื่อนที่ของสารสนเทศอย่างอิสระ (open flow of information) บนอินเตอร์เน็ท (เช่น OLPC และ Net Neutrality) ซึ่งเทคโนโลยีที่ทำให้เกิด Faustian Bargain ก็อย่างเช่น DRM เป็นต้น
เมื่อย้อนกลับไปดูที่กรณีของการพัฒนา search engine ที่สมบูรณ์แบบ ก็จะเห็นว่า ผลกระทบของเทคโนโลยี หรือ “ดิจิตอล” ที่มีต่อพื้นที่ทางกายภาพและสติปัญญานั้น ก็คือสิ่งที่เราพบ เราเห็น เราใช้อยู่ทุกในขณะนี้เมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ ได้แก่ Google Map, การค้นหาข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ, อินเตอร์เน็ทไร้สาย, PDA และ iPhone หรือถ้าเป็นทางสติปัญญา ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ หรือการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของห้องสมุด และทางบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยี search engine ในปัจจุบัน ยังไปไกลเกินกว่าแนวคิด Database of Intentions แต่ยังรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ (user profile) ไว้อย่างง่ายดาย เช่น การเชื่อมข้อมูลสถานที่กับ user account (ทางกายภาพ) หรือความสนใจส่วนตัวกับ user account (ทางสติปัญญา) ซึ่งทำให้ภาพของ Faustian Bargain ชัดเจนขึ้นในมุมกว้าง
ในบทสรุป Micheal ได้เสนอแนะวิธีการต่อรองความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างคร่าว ๆ 6 ประเด็นหลัก ได้แก่
- การสร้างสรรค์สังคมให้เกิดพื้นที่ที่เรียกว่า Temporary Autonomous Zone ตามแนวคิดของ Hakim Bey
- การใช้กฏ ระเบียบ ข้อบังคับของบ้านเมือง
- การใช้นโยบายภายในและการควบคุมตนเอง (self-regulation)
- การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค
- การต่อต้าน (Resistence) ซึ่งในที่นี้ Michael ยกตัวอย่าง TrackMeNot ซึ่งเป็น extension ของ Firefox พัฒนาโดย NYU ที่หลอก search engine กล่าวคือ แทนที่จะใช้การต่อต้านด้วยการทำตัวให้เป็น Anonymous ก็สร้างมลภาวะให้กับ profile (ในที่นี้ ก็เอา search queries อื่น ๆ เข้าไป run ด้วย ทำให้ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเรา ค้นคำว่าอะไร)
- สุดท้าย สำคัญที่สุด ก็คือ การต่อรองในด้านออกแบบระบบ โดยนำเสนอแนวคิดการออกแบบที่เรียกว่า Value Conscious Design ที่ให้นักออกแบบเชิงเทคนิค ตระหนักถึงความสำคัญของคุณค่าทางสังคม ไม่ว่าจะตั้งแต่การออกแบบตั้งต้น การใช้และทำลาย cookies การจัดการ log เป็นต้น
ในช่วงของการตอบคำถาม มีประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิส่วนบุคคล และอิสรภาพในการเคลื่อนที่ ที่ยังอ่อนอยู่ ในอีกความหมายหนึ่ง ก็คือ การที่ Google มีข้อมูลส่วนตัวเรา จะทำให้เราไม่มีอิสรภาพในการเคลื่อนที่อย่างไร ซึ่ง Micheal ได้ชี้แจงว่า สิ่งที่เชื่อมโยงสองประเด็นเข้าด้วยกัน คือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (อ่านเพิ่ิมเติมบนบล๊อกของ Paul Jones)
นอกจากนี้ยังโดนวิพากษ์ต่อ ที่เกี่ยวกับมุมมอง ที่โยงไปถึงเรื่องการเมือง และ post modernism ที่เน้นไปที่ การใช้ชีวิตโดยปราศจากความเสี่ยง (risk free) ที่ดูไม่เกินจากความเป็นจริงมากเกินไป และประเด็นสุดท้าย (ที่ผมอยู่ฟังถึง) ก็คือ ทำไมจึงต้องมาเน้นที่ตัว search engine ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตนั้นอันตรายมากกว่า
เพิ่งเข้ามาอ่าน….
ผมว่าที่เ้น้น search engine เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้มากกว่า เนื่องจากสามารถเปลี่ยนจาก data ให้เป็น information ได้ โดยการเชื่อมโยงกับบริบทอื่นๆ ในขณะที่ ISP เอง ถึงแม้จะเก็บข้อมูลผู้ใช้ได้ แต่ผมก็มองว่าเป็นได้แค่ data ไม่ใช่ information