Copyสิทธิ์: Section 108 vs. มาตรา ๓๔

Published by

on

ห้องสมุดกับกฏหมายลิขสิทธิ์ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงกันไม่ออก แต่ในทางปฏิบัติ ดูเหมือนว่า ผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศ มีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า จะให้บริการอย่างไรเพื่อไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์ ทำอย่างไรถึงเรียกว่าละเมิด ทำอย่างไรถึงไม่ละเมิด ปัญหาสำคัญของ ความไม่รู้ นอกจากจะอยู่ที่ตัวของผู้ปฏิบัติงานเอง ตัวบทกฏหมายและการตีความ ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตราที่เกี่ยวกับห้องสมุดตรง ๆ นั้นจะอยู่ในส่วนที่ ๖ ว่าด้วยข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ หลัก ๆ ก็จะอยู่ที่มาตรา ๓๔

มาตรา ๓๔ การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
(๒) การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการ วิจัยหรือการศึกษา

ผมเองก็ไม่ใช่คนหัวหมอ หรือรู้เรื่องกฏหมายลิขสิทธิมากเท่าไหร่ แต่เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งของคณะทำงานพิเศษ ที่ตั้งขึ้นโดย US Copyright Office และห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงตัวบทกฏหมาย ในมาตรา 108 ว่าด้วยการทำซ้ำโดยห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ ของ Copyright Act  of 1976 โดยเฉพาะ (คล้าย ๆ กับมาตรา ๓๔ บ้านเรา แต่มีรายละเอียด ข้อปลีกย่อยมากกว่ามาก) ทำให้ต้องหันกลับมามองรายละเอียดของตัวบทกฏหมายมากขึ้น เลยทำให้เห็นว่า ช่องโหว่ของกฏหมายมันมีมากน้อยเพียงใด

Pencil Rubberปัจจุบันขอบเขตของกฏหมายลิขสิทธิ์ ที่มีต่อการจัดการห้องสมุดและหอจดหมายเหตุนั้น นอกเหนือจากมาตรา 108 ที่ว่านี้แล้ว ส่วนที่นอกเหนือจากการครอบคลุมของมาตรา 108 ส่วนใหญ่ก็จะก็จะถูกคุ้มครองด้วย สิทธิการใช้ประโยชน์โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม (Fair Use) ซึ่งอยู่ในมาตรา 107 (เทียบเท่ากับมาตรา ซึ่งเป็นการคุ้มครองในวงกว้าง และต้องการอาศัยการตีความเป็นกรณี ๆ ไป นอกจากนี้ในกรณีที่เป็นประเด็นข้อกฏหมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตอล ก็จะต้องใช้ Digital Millenium Copyright Act (DMCA) ซึ่งมาตรา 108 ก็ยังได้รับการครอบคลุมไปถึง แต่กระนั้นก็ยังไม่ครอบคลุมประเด็นปัญหาทั้งหมด เพราะตัวมาตรา 108 เองนั้นถูกเขียนขึ้นโดยมีพื้นฐานจากสารสนเทศในรูปแบบอนาลอก

ปัญหาความคลุมเครือของการนำมาตรา 108 ไปใช้ จึงเป็นโจทย์ของคณะทำงานพิเศษชุดดังกล่าว โดยประกอบไปด้วยนักกฏหมาย บรรณารักษ์ ตัวแทนจากผู้ผลิต สำนักพิมพ์ ผู้ถือครองลิขสิทธิ์ นักวิชาการ จำนวนหนึ่ง โดยเอาประเด็นปัญหาต่าง ๆ มาพิจารณาและต่อรองกันในหมู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในมาตรานี้ ซึ่งข้อแนะนำที่ได้จะนำเสนอเข้าสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขอีกทีหนึ่ง (ซึ่งคาดว่า เป็นช่วงหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จเรียบร้อยแล้ว)

ข้อเสนอแนะที่ตีพิมพ์ในรายงาน มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งผมเห็นว่าไม่ค่อยมีการพูดคุยเท่าไหร่ ในวงการสารสนเทศบ้านเรา ซึ่งผมขอสรุปหัวข้อหลัก ๆ ดังนี้

รูปแบบสถาบัน: วัตถุประสงค์และภาระหน้าที่
มาตรา 108 ฉบับปัจจุบัน เสนอแนะให้เพิ่มเติมการครอบคลุมพิพิธภัณฑ์ นอกเหนือจากห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ ในขณะที่บ้านเรา ไม่ได้ครอบคลุมทั้งพิพิธภัณฑ์ และหอจดหมายเหตุ อย่างไรก็ตามก็ดูเหมือนว่า ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตีความ เนื่องจากในปัจจุบัน ห้องสมุดหลายแห่ง มีการควบรวมการทำงาน และมีชื่อขานเรียกที่แตกต่างกันไป การจำแนกความแตกต่างของหน่วยงานสารสนเทศ ทั้งสามประเภทออกมา จะทำให้การบังคับใช้ และปรับเปลี่ยนกฏหมายเป็นไปตามภาระหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งมีผลกระทบอย่างมาก ต่อการบังคับใช้ และเสนอแนะข้อกฏหมาย ซึ่งหลัก ๆ สามารถแตกออกได้เป็น 3 ภาระหลัก ๆ คือ การเข้าถึง (access) การเก็บรักษา (preservation) และการจัดแสดง (Display) ฝ่ายสำนักพิมพ์ และผู้ผลิตค่อนข้างจะคำนึงถึงการทำซ้ำเพื่อการเข้าถึง และการจัดแสดง มากกว่าการเก็บรักษา ซึ่งก่อนหน้านี้ มาตรา 108 เน้นไปเรื่องการเข้าถึงเป็นสำคัญ การเก็บรักษาและการจัดแสดงนั้นยังไม่ครอบคลุม

นอกเหนือจากการตีความประเภทของสถาบันบริการสารสนเทศออกเป็นห้องสมุด หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์แล้ว การจำแนกตามวัตถุประสงค์ขององค์กร (แสวงหาผลกำไร vs. พาณิชย์) ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยังดูก้ำกึ่ง แน่นอนว่า ถึงแม้ใน Copyright Act of 1976 นั้นไม่ได้เฉพาะเจาะจงลงไป แต่วัตถุประสงค์นั้น ดูเหมือนจะครอบคลุมเพียงแต่ห้องสมุดที่ไม่แสวงหาผลกำไรเท่านั้น (จะเห็นชัดมากขึ้นเมื่อดูจาก DMCA เนื่องจากกฏหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ครอบคลุมเฉพาะห้องสมุดที่ไม่แสวงหาผลกำไรเท่านั้น) ประเด็นปัญหาคือ ห้องสมุดหรือศูนย์ข้อมูลที่อยู่ในองค์กรแสวงหาผลกำไรครอบคลุมในมาตรานี้หรือไม่ หรือห้องสมุดที่เก็บค่าเข้าใช้บริการจากผู้ใช้โดยตรง (ถึงแม้ว่าจะไม่มุ่งแสวงหาผลกำไร) นั้นควรจะได้รับสิทธิประโยชน์นี้หรือไม่ ซึ่งข้อเสนอแนะของคณะทำงานชุดนี้ ก็ได้รวมสถาบันเหล่านี้เข้าไปไว้ด้วย

โดยเงื่อนไขของการกำหนดสถานภาพ องค์กรห้องสมุดและหอจดหมายเหตุนั้น ได้แก่ การมีเป้าหมายเพื่อบริการสาธารณะ, การจ้างเจ้าหน้าที่ห้องสมุดและหอจดหมายเหตุที่ได้รับการอบรม, ให้บริการวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดและหอจดหมายเหตุโดยทั่วไป, และมีการจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศที่จัดหา หรือได้รับอนุญาตมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

บุคคล vs. องค์กร vs. องค์กรรับจ้าง
มาตรา 108 นั้นเน้นที่ตัวองค์กรเป็นสำคัญ (“a library or archives, or any of its employee acting within the scope of their employment”) ในขณะที่มาตรา ๓๔ ของบ้านเรา เฉพาะเจาะจง “บรรณารักษ์” ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่ค่อนข้างแคบมาก เพราะในสภาพการทำงานจริง ตำแหน่ง “บรรณารักษ์” คงไม่สามารถมาทำสำเนาให้ผู้ใช้ได้ทุกคน หากแต่คนที่ทำงานตำแหน่งอื่น เช่น “ผู้ช่วยบรรณารักษ์” “ลูกจ้างประจำ” เสียมากกว่า

ข้อเสนอแนะจากคณะทำงาน พยายามจะขยายขอบเขตของมาตรา 108 ให้ครอบคลุมองค์กรที่มารับจ้างด้วย กล่าวคือ ห้องสมุดจำนวนมาก ใช้การ outsource ในการทำสำเนา ไม่ว่าจะเพื่อให้ห้องสมุดเองหรือเพื่อผู้ใช้บริการโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมาตรา 108 ไม่ได้ครอบคลุมการใช้ outsource ไว้เลย ดังนั้นการทำสำเนาโดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นพนักงานของห้องสมุด หรือในกรณีของมาตรา ๓๔ ในบ้านเรา คือ บุคคลที่ไม่ได้เป็นบรรณารักษ์ ก็ถือว่ามิได้ครอบคลุมโดยมาตรานี้แล้ว ดังนั้นคณะทำงานก็พยายามที่จะครอบคลุมการ outsource ไว้ด้วย

การตีพิมพ์และการเผยแพร่

ในการพิจารณาเพื่ออนุญาตให้ทำสำเนาภายในห้องสมุดนั้น มาตรา 108 ฉบับปัจจุบันใช้เพียง “การตีพิมพ์” (published) เป็นเงื่อนไข กล่าวคือ อนุญาตให้ห้องสมุดทำสำเนาจำนวน 3 สำเนา เฉพาะงานที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์เพื่อการเก็บรักษา และความปลอดภัยหรือเพื่อใช้สำหรับการยืมระหว่างห้องสมุด สำหรับงานที่มีการตีพิมพ์นั้น อนุญาตให้ทำสำเนาจำนวน 3 สำเนาสำหรับงานที่ถูกทำลาย หมดสภาพ สูญหายหรือถูกขโมย

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานชุดนี้ ได้เสนอแนะให้เพิ่มมิติของการพิจารณาไปอีกแง่หนึ่ง นั่นก็คือ การเผยแพร่ (dissemination) กล่าวคือ หากเป็นงานที่ได้รับการตีพิมพ์และมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ (publicly available) ห้องสมุดที่มี “คุณสมบัติ” สามารถกระทำการทำสำเนาจัดเก็บงานเหล่านี้ได้ แต่จะต้องมีรายละเอียดของการเก็บรักษาอย่างเป็นระบบ (อ่านเพิ่มเติมในรายงานฉบับจริง) นอกจากนี้รายงานฉบับนี้ ยังได้เสนอแนะให้อนุญาตให้ทำซ้ำทรัพยากรที่มีความ “เปราะบาง” (fragile) ได้ กล่าวคือ หากห้องสมุดเห็นว่า ทรัพยากรบางประเภท ท่าจะอยู่ไม่ยืด เช่น พิมพ์บนกระดาษที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทำลาย ก็สามารถทำซ้ำได้ก่อนที่มันจะถูกทำลายจริง ๆ

ทำซ้ำเพื่อการเก็บรักษา

ข้อเน้นย้ำของการทำซ้ำเพื่อการเก็บรักษา มีหลักสำคัญอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรก คือ เงื่อนไขของการทำซ้ำ ที่ว่า การทำซ้ำนั้น จะกระทำมิได้หากไม่สามารถจัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่ยังไม่ได้ (unused replacement) มาได้ในราคาที่เหมาะสม (เช่น ไม่ขาดตลาด หรือเป็นทรัพยากรสารสนเทศที่หายาก เป็นต้น) ส่วนที่สองคือ จำนวน ซึ่งฉบับปัจจุบัน จำกัดอยู่ที่ 3 สำเนา ส่วนสุดท้าย คือ การเข้าถึงและจัดเก็บ ซึ่งเน้นไปที่การใช้ภายในสถาบัน

รายงานของคณะทำงานชุดนี้ ได้เสนอแนะให้ขยายขอบเขตของสามส่วนนี้ออกไป ได้แก่ 1) การปรับเงื่อนไขจาก “สารสนเทศที่ยังไม่ได้ใช้” เป็น “สำเนาที่ยังใช้งานได้” โดยพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ทั้งนี้เพื่ออนุญาตให้ห้องสมุดจัดหาของมือสองมาแทนได้  ซึ่งจริง ๆ ก็ลดขอบเขตของการทำซ้ำลง 2) ปรับจำนวนที่ให้ทำซ้ำได้ จาก 3 เป็นจำนวนที่จำกัดอย่าง “เหมาะสม” 3) เพิ่มขอบเขตของการทำสำเนา สำหรับการยืมข้ามสถาบัน

การจัดเก็บเนื้อหาออนไลน์

ห้องสมุดและจดหมายเหตุบางแห่ง จะต้องจัดเก็บข้อมูลบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งมาตรา 108 ฉบับปัจจุบันไม่ได้มีการครอบคลุม ข้อเสนอแนะในรายงานฉบับนี้ จึงเพิ่มประเด็นนี้เข้าไป โดยอนุญาตให้ห้องสมุดสามารถจัดเก็บสารสนเทศออนไลน์ที่แผยแพร่ต่อสาธารณะ (publicly available) ได้ (โดยหมายถึง ข้อมูลที่ไม่ติดสามารถค้นหาได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียน ใช้รหัสผ่าน หรือทางเข้าที่ต้องมีการยืนยันบุคคลผู้เข้าถึงข้อมูล) เพื่อการเข้าถึงภายในห้องสมุด หรือหากจะเปิดให้ผู้ใช้เข้าถึงได้ ต้องมีระยะเวลาที่กำหนด โดยที่เจ้าของข้อมูลเหล่านั้นสามารถ opt out ได้

ประเด็นอื่น ๆ ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอีกหลายประการที่ คณะทำงาน (ตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย) ไม่สามารถตกลงกันได้ ได้แก่

  • การยืมระหว่างห้องสมุดในรูปแบบดิจิตอล
  • การขยายเขตครอบคลุมของมาตรา 108 ไปยังงานประเภทอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากงานเขียนประเภทลายลักษณ์อักษร (เช่น งานดนตรี ภาพหรืองานศิลปกรรม ตลอดจนภาพยนตร์หรืองานโสตทัศน์อื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากงานโสตทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับข่าว)
  • ห้องสมุดและหอจดหมายเหตุเสมือน (ไม่มีพื้นที่ทางกายภาพ) ซึ่งปัจจุบันยังหาตัวอย่างกรณีนี้ไม่ได้
  • ข้อผูกพัน license และ
  • งานที่ไม่มีเจ้าของลิขสิทธิ์ยืนยัน
  • การสำรองหนังสืออิเลกทรอนิกส์ (Electronic reserve)
  • การอนุญาตให้ห้องสมุดสามารถได้รับข้อยกเว้นจากการป้องกันการทำสำเนา
  • ฯลฯ

ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จะถูกส่งเข้าไป เพื่อให้สภาได้พิจารณาเช่นเดียวกัน โดยที่คณะทำงานไม่มีข้อเสนอแนะที่ชัดเจน

จะเห็นได้ว่า มาตรา 108 ถึงแม้จะเป็นฉบับปัจจุบัน ค่อนข้างละเอียด และครอบคลุมการจัดการห้องสมุดกว่ามาตรา ๓๔ ของบ้านเรามาก ถึงแม้ว่าจะไม่ครอบทุกด้าน แต่ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทราบบทบาท และขอบเขตการทำงานได้ยิ่งขึ้น ถ้าข้อเสนอแนะชุดนี้ ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย และกลายเป็นข้อบังคับใช้แล้ว การจัดการโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำซ้ำ เพื่อการจัดเก็บและการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ก็จะสะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อมีข้อปัญหา ก็ยังคงต้องเป็นกรณี ๆ ไปอยู่ดี แต่การมีกฏหมายเข้ามาครอบคลุมเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มี program ในการเก็บรักษาจำนวนมาก การจัดการและการต่อรองลิขสิทธิ์ของทรัพยากรสารสนเทศบางชิ้น อาจจะต้องใช้เวลานับร้อยชั่วโมง หากการมีกฏหมายที่ชัดเจน และลดการตีความให้น้อยลงไป ก็น่าจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้ต่างก็ใช้งานกันได้อย่างสบายใจ

ถ้าต้องการอ่านฉบับเต็ม สามารถ download ได้ที่ section108.gov (หากไม่มีเวลาอ่านมาก อ่านตรง Executive Summary ก็พอ)

ของแถม: อ่านกรณีของ Universal Music (UMG) จะห้ามไม่ได้ผู้ที่ได้รับ promotional CD ขายต่อ (หรือแม้กระทั่งจะทิ้ง?) เนื่องจากมีป้ายเขียนไว้ว่า ห้ามขาย ไม่เกี่ยวกับห้องสมุดเท่าไหร่ แต่เป็นกรณีที่น่าสนใจอยู่ในขณะนี้

หนึ่งความเห็นตอบกลับที่ “Copyสิทธิ์: Section 108 vs. มาตรา ๓๔”

  1. […] 108 จากที่ได้กล่าวไว้ในกระทู้ที่แล้ว แต่ละเมิด Fair Use หรือไม่นั้น […]

ใส่ความเห็น