เขื่อน อาจเป็นผลดีต่อรัฐบาล แต่ก็ไม่ใช่กับประชาชนบางคน ประเทศชาติอาจเจริญรุ่งเรืองเพราะสิ่งนี้ แต่สำหรับบางคนเครื่องมือในการจมชีวิตมนุษย์ เรื่องเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ต่างก็มีปัญหาน้อยใหญ่ไม่ต่างกัน เมื่อมองในเชิงมหภาค ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่เมื่อมองเจาะลึกลงไปในระดับปัจเจก ก็จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งเหล่านี้มีความซับซ้อนและรายละเอียดยิบย่อย และมีความสำคัญของเชิงสังคมอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึง ชีวิตมนุษย์เป็นราคาสำคัญ
Up the Yangtze เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดึงเอาประเด็นในเชิงปัจเจก ภาพยนตร์สารคดีของแคนาดา เล่าเรื่องชีวิตของชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแยงซี (Three Gorges Dam) เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกของจีน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเสมือนการเล่าเรื่องผ่านสายตาของนักท่องเที่ยวเรือสำราญชาวตะวันตก Yu Shui เด็กสาวที่ต้องออกไปทำงานบนเรือสำราญเพื่อหารายได้เข้าครอบครัวหลังจากจบชั้น ม.ต้น เนื่องจากบ้านและพื้นที่เกษตรกรรม จะถูกจมหายไปกับน้ำเมื่อเขื่อนสร้างเสร็จ ถึงแม้เนื้อเรื่องจะเน้นไปที่ครอบครัวและตัวของ Yu Shui แต่การเล่าเรื่องหาได้เป็นเช่นการเล่าเรื่องแบบเรื่องสั้นทั่วไปไม่ (ที่มีละครไม่กี่ตัว และมีฉากไม่กี่ฉาก) หากแต่ผู้กำกับและเขียนบท ได้ให้ความสำคัญของบริบท ด้วยการนำเสนอแบบ ethnography ซึ่งทำให้ยิ่งมองเห็นปัญหาใน layer ที่กว้างออกมา
ต้องยอมรับฝีมือของ Yung Chang ผู้กำกับและผู้เขียนบท ที่สามารถเลือกตัวดำเนินเรื่องที่เต็มไปด้วยปมปัญหาที่เข้มข้น และมีมิติที่หลากหลาย ความเอาใจใส่กับบริบทของแต่ละองค์ประกอบเรื่อง ทำให้การเล่าเรื่องมีพลังส่งมาถึงคนดูอยู่มาก (ถึงแม้อาจจะดูเป็นการ Dramatize สำหรับบางคนก็ตาม ซึ่งส่วนตัวชอบอยู่แล้ว เหอ ๆ) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้งกันเองระหว่างวัฒนธรรมเก่าและใหม่ ธุรกิจท่องเที่ยวและโลกาภิวัตน์ การจัดการปัญหาของผู้มีอำนาจ อัตลักษณ์ที่ปรากฏในความเป็นท้องถิ่นและชุมชน เป็นต้น ดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว ไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกหดหู่ เศร้าใจ หรือสงสารเท่านั้น แต่บางครั้งก็ทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วนกับภาพของความดิ้นรนของชีวิต และความยัดเยียดการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งใน benefit ของการสร้างเขื่อน..
แต่โดยส่วนตัว สิ่งที่ชอบที่สุดของหนัง คงจะหนีไม่พ้น cinamatography ที่ต้องยอมรับว่า ของเค้าเนียนจริง ๆ ถึงแม้ว่าจะถ่ายทำจากกล้อง DV ธรรมดา ตั้งแต่ฉากแรกจนถึงฉากสุดท้าย แต่ละภาพ แต่ละการเคลื่อนไหว มีความสมบูรณ์ทั้งในเชิงศิลปะและสาระ จนอาจเรียกได้ว่า Up the Yangtze คือ อีกหนึ่งความงามของความทุกข์ยากได้อย่างไม่ผิดนัก