ต้นเหตุเกิดมาจาก เว็บไซต์ Sun-Sentinel ซึ่งรวบรวม Newsletter ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม มีบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการล้มละลายของ United Airlines ซึ่งเป็นบทความที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2002 แต่บทความต้นฉบับบนเว็บไซต์ไม่มีวันที่ปรากฏ (ดังรูปโดย Google ผ่าน Poynter)
วันดีคืนดี crawler ของ Google News ก็ดันไป index เจอบทความนี้เข้าและใส่วันที่ของบทความให้เป็นวันที่ปัจจุบันเสีย (ดังรูปจาก Poynter) ทั้งนี้เข้าใจว่า เนื่องจากบทความดังกล่าวถูกนำขึ้นมาให้อยู่ในกลุ่ม “most viewed” บทหน้า homepage (ดังรูปโดย Google ผ่าน Poynter) เลยเป็นสาเหตุให้ Google ต้อง re-index (อ่านเพิ่มเติม)
แน่นอนว่าข่าวนี้ ไม่สามารถหลุดรอดจากสายตานักข่าวสาวจากบริษัท Income Securities Advisors Inc. ซึ่งเป็นบริษัทขายข่าวไปได้ ซึ่งเธอก็ได้ทำการสรุปและส่งให้ Bloomberg ทันที ภายในสองนาทีที่ข่าวนี้ขึ้นหน้าจอโทรทัศน์ เสียงโทรศัพท์ภายในบริษัท Income Securities Advisors Inc. ก็ดังไม่ขาดสาย และทำให้ข่าวนี้มีชีวิตอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ได้เพียง 13 นาที
สำหรับคนทั่วไป 13 นาทีคงไม่ได้มีอะไรมาก แต่สำหรับ United Airlines เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะข่าวนี้ทำให้บริษัทเสียมูลค่าในตลาดไปถึง 75%
Amy Fry ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจบางประการในเชิงการรู้สารสนเทศ (Information Literacy) บน ACRLog ผมก็เลยขอเอา heading ของเธอมาสรุปในสำนวนของตัวเองละกัน
ข้อบกพร่องในการสร้าง metadata ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะไปยกให้ Google ที่ไปใส่วันที่ index แทนวันที่ปรากฏบทต้นฉบับก็ถูกต้องประการหนึ่ง ซึ่ง Google อาจจะต้องกลับไปทบทวนนโยบายในการสร้าง metadata ใหม่ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่กระนั้นก็ยังต้องย้อนกลับไปถึง Sun-Sentinel ด้วย ว่าเหตุใดจึงไม่ใส่วันที่ของบทความเข้าไป ผู้บริหารรายหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็น (อย่างลวก ๆ) ว่า ไม่เคยใส่วันที่ในบทความอยู่แล้ว ทั้งที่จริง ๆ ก็พบว่าข่าวของแหล่งข่าวนี้ มีวันที่บ้าง ไม่มีวันที่บ้าง ซึ่งนี่น่าจะเป็นข้อผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะของคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับข่าว และเหตุการณ์ปัจจุบันที่เวลามีความสำคัญอย่างมาก จริง ๆ ไม่ว่าสารสนเทศประเภทไหน เวลาก็เป็นตัวแปรสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ใช้ในการพิจารณาความเหมาะสม
การขาดทักษะในเชิง critical thinking ข้อนี้ เกี่ยวข้องกับบริษัทที่เอาข่าวจาก Google News ไปสรุปเต็ม ๆ จะว่าไปข่าวชิ้นนี้มีเนื้อหาที่มีผลกระทบสูง การนำเอาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลไปใช้ต่อก็ควรจะมีการตรวจสอบ พิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะในเรื่องความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล
Aggregator มีอำนาจในการชี้นำไปในทางที่ผิดได้ ซึ่ง aggregator ในที่นี้คือ Bloomberg ที่ถือบทบาทของตัวเองในฐานะผู้ “รวบรวม” ข่าว มากกว่า ผู้ “กลั่นกรอง” ข่าว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ซึ่งทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของตัว aggregator โดยเฉพาะเรื่อง Information Overload ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับข้อมูลจำนวนมาก (เกินความจำเป็น) และทำให้ภาระของการกลั่นกรองข่าวตกอยู่กับผู้บริโภคแต่เพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่ model แบบเดิม gatekeeper มีความสำคัญไม่เพียงแต่ “ปล่อย” เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ในการ “กลั่นกรอง” อีกด้วย
สุดท้ายคือ อำนาจของ Google ที่มีมากเกินกว่าที่เรานึกถึง สิ่งที่ต้องย้อนกลับไป คือ อะไรทำให้เรา “ไว้ใจ” Google ได้ขนาดนี้ ข้อสังเกตส่วนตัว คือ ความน่าเชื่อถือของ Google ที่ปรากฏการณ์ทางสังคมสามารถให้คำอธิบายได้ดีกว่าปัจจัยส่วนบุคคล เพราะฉะนั้นคนส่วนมากมักไม่สร้างบรรทัดฐานในการสร้างความน่าเชื่อถือจากตัวเอง ความเชื่อถือไม่ได้เกิดขึ้นภายในปัจเจก แต่เป็นการรับเอาความเชื่อถือมาจากสังคม ดังนั้นทำให้ผู้บริโภคข้อมูลปัจจุบันใช้ความน่าเชื่อถือแบบ “รับเอา” มานี้โดยขาดความระมัดระวัง ในขณะเดียวกัน Google ก็ตระหนักในสายตาของสังคมที่จับจ้องมองอยู่เช่นกัน และก็พยายามจะเล่นบท พระเอก ให้คนเห็นอยู่เสมอ ๆ แต่การที่สังคมมอบความไว้วางใจให้กับ Google ทำให้ความรับผิดชอบและผลได้เสียนั้นมหาศาล ซึ่งยากที่จะตอบสนองและ/หรือป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับสมาชิกของสังคมได้ทั้งหมด ดังนั้นบทพระเอกที่พยายามจะเล่นอาจจะทำให้นางเอกรอดชีวิต แต่บางครั้งการช่วยชีวิตนางเอก อาจทำให้เราต้องสูญเสียคนอื่น ๆ หากขาดความรอบคอบ
ที่มาและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Poynter Online และ Washington Post (โดยเฉพาะคนที่ชอบอ่านแบบสืบสวน โยนความผิดกันไปมาให้อ่านที่ Poynter Online)