เปลือย TCDC: บริบทกับความอยู่รอด ตอน 2

Published by

on

เปลือย TCDC เป็น series เกี่ยวกับความคิดเห็นของผม ผ่านประสบการณ์ในฐานะที่เคยทำงานใน สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC เท่าที่วางแผนไว้ขณะนี้ มีทั้งหมดประมาณ 3-4 ตอน

ใต้ร่ม OKMD

แน่นอน หลายเสียง โดยเฉพาะคนในวงการวิชาชีพ รู้สึกสงสัยและแปลกใจกับหน่วยงานใหม่ ที่ตั้งชื่อเสียสวยหรูว่า OKMD แล้วก็ไม่รู้ว่ามันมีขึ้นมาเพื่ออะไร ถึงแม้ TK Park กับ TCDC จะเป็นหน่วยงานพี่น้อง แต่ก็ต้องบอกกันตามตรงว่า ความรู้สึกที่ผมทำงานตรงนั้น มันเหมือนแข่งกันทำงานมากกว่า จะร่วมมือกันทำ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะด้วยหลักการ และกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันออกไป ในขณะที่หน่วยงานแม่ก็ดูแลแต่เพียงนโยบาย กับหลักการอย่างกว้าง ๆ

เริ่มแรก TK Park ก็บอกว่าจะมุ่งไปที่ public แต่ไป ๆ มา ๆ ก็กลายเป็นที่สำหรับเด็กไป ซึ่งผมก็คิดว่า ไม่ผิดและไม่เสียหาย แต่อาจจะต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เท่านั้นเองว่า เงินที่เอามาใช้ลงทุนกับสิ่งที่จะได้กลับคืนมา มันคืออะไร (ซึ่งเรื่องการประเมินผลการลงทุน ถ้ามีเวลาจะเขียนให้ละเอียดลงไป ให้มากกว่านี้) แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันก็ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรผิด อะไรถูก ถึงแม้ผมจะเคยเขียนวิจารณ์ โครงการประกวดแผนห้องสมุดมีชีวิตของ TK Park มาแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ผมไม่รู้สึกชื่นชมความตั้งใจของคนทำงาน

หน่วยงานที่ตั้งแต่ขึ้นใหม่ที่มีส่วนของ ห้องสมุด เป็นองค์ประกอบสำคัญนี้ คนในวิชาชีพหลายคน ก็อาจจะรู้สึกว่า ทำไมเหมือนตัดหน้า แล้วเอาใครไม่รู้มาทำ (เป็นหัวหน้า) แทนที่จะเอาคนที่มีความรู้เชี่ยวชาญ ด้านบรรณารักษศาสตร์โดยตรงมาทำ (ซึ่งมันทำให้เกิดความคิดแหนงแคลงใจจากแถวห้องสมุดประชาชน หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุ) ทั้งที่จริงแล้ว ผมเชื่อว่า คนในวิชาชีพ ก็น่าจะตระหนักถึงจุดอ่อนของตัวเอง และสถานภาพของวิชาชีพในบ้านเราดี เพราะไอ้ความคิดว่า “บรรณารักษ์เมืองไทย” ไม่มีน้ำยานี่แหละ ถึงทำให้คนที่ไม่ได้เรียนจบสายนี้จริง ๆ เข้ามาบริหารงานห้องสมุด และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ดูอย่างตามห้องสมุดมหาวิทยาลัย คนที่มามีบทบาทในการบริหารห้องสมุด ก็มีตั้งเยอะแยะที่ไม่ได้จบบรรณารักษศาสตร์ แต่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ นี่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึง ความอ่อนด้อยของการศึกษาในด้านนี้หรอกหรือ ที่ทำให้ผู้เรียนขาดภาวะ “ความเป็นผู้นำ”

รวยกระจุก จนกระจาย

คนถามว่า ทำไมไม่คิดถึงคนบ้านนอก ชาวบ้าน ชาวช่อง ห้องสมุดประชาชนที่ขาดแคลน ผมคงต้องขอแสดงความคิดเห็นไปตรง ๆ อย่างนี้เลยว่า ผมและคนอื่น ๆ (รวมทั้งผู้บริหาร) คิดและเข้าใจความคาดหวังของสาธารณะดี การที่รัฐบาล ณ ตอนนั้น ไม่อาจลงทุนให้กับห้องสมุดประชาชน หรือหอสมุดแห่งชาติ เพราะผมเข้าใจว่า รัฐไม่เชื่อมือบรรณารักษ์ การเอาเงินไปลงทุนให้กับบรรณารักษ์ ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มคน ที่มีผลงานให้โดดเด่นน้อยที่สุด ดังนั้น การตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ แล้วให้คนที่รัฐคิดว่า เชื่อใจและ ไว้ใจได้ มาทำงานเหล่านี้ น่าจะเป็นผลดีกว่า (ซึ่งมันก็เป็นวิถีทางการเมืองโดยทั่วไป ที่คนเข้าใจและติดตามการเมืองมาตลอด น่าจะทราบและตระหนักดี) ดังนั้น จะเห็นได้ว่า คนทำงานยุคบุกเบิกในนั้น ไม่มีใครอยู่ใน field เลย

อีกทั้งการที่รัฐพยายามจะ promote ว่า องค์กรนี้ จะเป็นองค์กรต้นแบบ หลายคนก็ต้องเข้าใจว่า มันคือ การสร้างขึ้นมา แล้วก็ให้ห้องสมุดอื่นทำตาม หรือจะไปสร้างห้องสมุดเดียวกันแบบนี้ที่อื่นอีก แต่สิ่งที่คนมองข้ามคือ การเป็นห้องทดลองเชิงธรรมชาติที่นักสารสนเทศ ทั้งสายบรรณารักษศาสตร์หรือสารสนเทศศาสตร์ เพื่อให้ข้อมูลเพื่อการพัฒนา

ทำไมผมถึงบอก หน่วยงานพวกนี้ ว่าเป็นห้องทดลอง มากกว่าการเป็นห้องสมุดต้นแบบ ก็เพราะเป้าหมายของการจะทำให้เกิดนวัตกรรม หรือสิ่งใหม่ขึ้น ในวงการห้องสมุด มันก็ต้องมีการวิจัยและพัฒนา หากแต่การวิจัยและพัฒนาในห้องสมุด ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า มันตัน เพราะมันเหมือนจะหมดแค่ ป.โท เท่านั้น แล้วงานวิจัยทั้งหลายก็ไม่ได้ขับเคลื่อนตัวองค์ความรู้ซักเท่าไหร่ เพราะมันเป็นงานวิจัยเชิงองค์กรซะเป็นหลัก

สมัยผมทำงานอยู่ TCDC เราก็คิดกันว่า จะทำอย่างไร ให้คนไม่เข้าใจผิดว่า เราเอาสมบัติชาติบ้านเมืองมาใช้ เพื่อตอบสนองปัญหาของคนเพียงบางกลุ่ม แน่นอน เราคิด แล้วเราก็วางแผนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม มากกว่าการเป็นห้องสมุดเฉพาะ ผมไม่คิดว่า คนใน TCDC ต้องการเข้าไปล้มล้างหอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุ หรือตัดหน้าแต่อย่างไร ในทางตรงกันข้าม ไม่ใช่แต่คน TCDC แต่ทุกคนก็อยากมีห้องสมุดแห่งชาติที่ดีเยี่ยม ไม่ใช่เป็นแหล่งความรู้อย่างเดียว แต่เป็นหน้าเป็นตา เพื่อบ่งบอกความเป็น “อารยะ” ของสังคมไทยว่าเป็นสังคมของคนมีความรู้ (ประชด)

การพัฒนาการทำงานให้เป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่คนใน TCDC ตระหนักดีว่าจะต้องทำให้มันบังเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงเหตุผลทางการเมืองเท่านั้น แต่สำหรับผมเอง มันเป็นการพิสูจน์ความสามารถของคนทำงาน ว่าเราเป็นน้องใหม่ในวงการ ที่ดีพอที่พอจะเข้าไปช่วยพัฒนาวงการโดยรวม และองค์ความรู้ด้านนี้

อย่างไรก็ตามแรงผลักดันทางการเมือง ทำให้เรามีข้อจำกัดด้านระยะเวลา ซึ่งมีผลกระทบต่อการก่อตั้งของ TCDC ในหลาย ๆ ด้าน และมันก็สามารถกลายเป็น “ข้ออ้าง” ไว้ใช้อธิบายคำถามของที่พยายามโจมตี TCDC ได้อยู่เสมอ ๆ อย่างเช่น ถามว่า ทำไมเป้าหมายของ TCDC ไปอยู่ที่นักออกแบบ ไม่ใช่อยู่ที่ผลิตภัณฑ์ OTOP อันนี้ผมเองก็ตอบไม่ได้เต็มร้อย แต่ตามที่ผมเข้าใจ การมุ่งไปที่นักเรียน และนักออกแบบเป็นกลุ่มแรก ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ (output) ได้มากที่สุด เนื่องจากได้รับผลได้ผลเสียโดยตรง ในขณะเดียวกัน ก็ใช้เป็นโอกาสในการ form เครือข่ายของนักออกแบบ และเมื่อได้กลุ่มนักออกแบบ ที่มีคุณภาพมารวมตัวกัน เราก็น่าจะสามารถเชื่อมโยงคนที่มีหัวคิดออกแบบ กับคนที่มีหัวคิดการค้า เข้าไว้ด้วยกันได้ ต่อให้เป็นระดับไหนก็ตามเถอะ (หมายถึง คนระดับบน ระดับล่าง)

ส่วนถามว่า ทำไมต้องมาตั้งใจกลางเมือง ทำไมไม่ไปตั้งห้องสมุดที่อื่น ตั้งบนห้างมันแพง อันนี้ผมไม่ได้เป็นคนมีส่วนร่วม ในการพิจารณาเลือกพื้นที่ตั้งแต่ต้น ผมและทุกคนเข้าใจดีว่า การสร้างห้องสมุดบนห้างสรรพสินค้า เป็นข้ออ้างทางการตลาด และก็มีแรงบันดาลใจมาจากห้องสมุดในสิงคโปร์ ที่คิดว่าคนจะมาให้ห้องสมุดเยอะมากขึ้น หากตั้งไว้บนห้าง แต่ถ้า ณ​ ตอนนั้น มีคนถามว่า ถ้ามันตั้งในเมืองไทยแล้วมัน work มั๊ย จะมีคนตอบได้หรือไม่ คนก็จะบอก ได้ (ปัญหาคือ ใครจะทำ) ก็จะตอบสมมติฐานที่ตั้งกันไว้ ไม่เต็มปากนัก (แต่พอมีแล้วเป็นไง ก็บ่นว่าเปลือง)

ความจริงห้างเอ็มโพเรี่ยม ไม่ใช่เป็นห้างแรกที่ถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งของ TCDC หากแต่เป็นห้างอื่นบนเส้นสุขุมวิทนั้นแล แต่มันมีปัญหาทางธุรกิจหรืออะไรที่แหละ ผมก็ลืมไปแล้ว ทำให้ต้องย้ายมาตั้งที่เอ็มโพเรี่ยม ข้อที่สอง ทำไมต้องตั้งในแถบนั้น ก็เพราะมันเป็นย่านธุรกิจ ที่มีคนทำงานที่น่าจะสนใจด้านนี้อยู่ด้วย ซึ่งจริง ๆ ประเด็นนี้ สำหรับผมแล้ว แต่สุดท้าย จะเป็นที่ไหนก็ไม่สำคัญ ขอให้เป็นแหล่งที่มันเข้าถึงออกสะดวก ก็น่าจะไม่มีปัญหา แต่ปัญหาก็คือ ในระยะเวลาอันสั้น การลงทุนสร้างตึก สร้างอาคารขึ้นมาใหม่ มันใช้เวลา การไปตั้งบนห้างสรรพสินค้า ก็กลายเป็นทางเลือก ที่ช่วยประหยัดเวลาในการจัดตั้ง

ส่วนงบประมาณในการตกแต่ง ทำไมต้องแต่งเสียหรูหรา อันนี้ผมก็คงจะไม่สามารถตอบหรือให้ข้อมูลตรงนี้ได้ เพราะผมเข้าไปงานตกแต่งหลัก ๆ ก็ได้ถูกวางไว้เยอะแล้วเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ keep in mind ผม และคนอื่น ๆ อยู่เสมอ ๆ ก็คือ ถ้าห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ มีสภาพเหมือนห้องสมุดประชาชนทั่วไป ถึงแม้ content ที่อยู่ในห้องสมุดมากน้อยเพียง แต่มันก็แสดงถึงความไม่เอาใจใส่ของคนทำงาน และกลายเป็นการ discredit ตัวเองไปเสียอย่างนั้น ซึ่งมันก็เหมือนกับวิชาชีพอื่น ๆ ที่มันมีองค์ประกอบของการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน และ TCDC ก็ถือเช่นเดียวกันว่าการตกแต่ง ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร แต่

ส่วนหนึ่ง ที่ผมโดยส่วนตัว ไม่ใคร่จะยินดีปรีดา (แต่ก็ไม่ถึงกับรู้สึกว่า อยากจะออกมาต่อต้าน) ก็คือ เรื่อง เฟอร์นิเจอร์ของนักออกแบบชื่อดัง ที่แต่ละตัวมีราคาหลายอยู่ อาจจะเป็นเพราะผมไม่ใช่นักออกแบบเป็นอาชีพ ความสำคัญของการได้สัมผัส ของจริง มันอาจจะเข้าไม่ลึกถึง อีกอย่าง ผมคิดว่าการเอามาใช้แบบถาวร มันเป็นการสิ้นเปลืองอยู่กลาย ๆ แต่กระนั้น ผมก็เห็นพ้องกับประโยชน์ที่จะได้รับ ถ้ามันมีโอกาส (และโอกาสสำหรับประเด็นนี้มันคือ เงิน) อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี มันก็เกิดขึ้นมาแวบ ๆ ส่วนตัว เมื่อก่อนคริสมาสต์ที่ผ่านมา ผมก็ไป MOMA มา แล้วก็ไปเดินดูเฟอร์นิเจอร์ของนักออกแบบที่ จัดแสดงไว้บนแท่นจัดแสดง ตอนดูแล้วก็นึกขึ้นได้ว่า อืม เห็นแล้วมันก็อยากลองเหมือนกันนะ มันก็คงจะคล้ายกับจิตวิทยาอย่างหนึ่งเวลาเราซื้อของ พอเราเห็นของที่ตั้งอยู่ในร้าน แล้วเขียนว่า ห้ามจับ ห้ามแตะ ความรู้สึกสงสัย เคลือบแคลงใจมันก็เป็น motivation ให้เราอยากจะไปสัมผัส แต่พอมีสตางค์ซื้อมาตั้ง แล้วก็ใช้ได้ ไม่เท่าไหร่ ก็เริ่มบ่นแล้วว่า แพงจัง

อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างด้าน “เวลา” ทำให้คนมองข้ามไปว่า TCDC, TK Park และหน่วยงานลูกของ OKMD อื่น ๆ ก็มีแผนการที่จะตั้งห้องสมุดบนพื้นที่ขอตัวเอง ตอนก่อนผมจะออก ก็เริ่มมีเสียงแว่ว ถึงการจะไปตั้ง TCDC บนถนนราชดำเนิน แต่ความพยายามก็ต้องล้มเหลวไป หลังจากรัฐประหาร

นอกจากนี้ TCDC ก็กำลังจะเริ่มโครงการ mini-TCDC ด้วยการเอา collection ไปให้บริการตามห้องสมุดอื่น ๆ ที่น่าจะมีกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในช่วงแรกผมก็พยายามช่วย หาเกณฑ์ในการคัดเลือกห้องสมุด และนั่นก็เป็นที่มาของ post เรื่อง ปัจจัยในการเลือกพื้นที่พัฒนา (จัดตั้ง) ห้องสมุดประชาชน ซึ่งเป็น post หนึ่งของผมในยุค pre-iTeau ที่มีคน “บังเอิญ” เข้ามามากที่สุด

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมสืบทราบมา ก็คือ หลังจากที่มีการออกสำรวจและขอความร่วมมือ จากห้องสมุดต่าง ๆ เพื่อที่จะเอา collection ของ TCDC ไปจัดให้บริการ คนทำงาน (ก็คือ บรรณารักษ์ นั่นแหละ) ในหลาย ๆ ที่กระอักกระอ่วนที่จะให้ความร่วมมือ ไม่ใช่เพราะเค้ากลัวเรื่องการเมือง แต่เป็นเพราะเค้าคิดว่า “มันคือการเพิ่มงาน” มากกว่าการมองว่า “ผู้ใช้จะได้ประโยชน์”

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า “เงิน” ที่เป็นข้ออ้างว่า ห้องสมุดบ้านเราไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่หากเป็น “งานของตัว” มากกว่า ที่เป็นปัญหาใหญ่ และผมเชื่อว่า “ความคิด” เหล่านี้ มันมีมานานแล้ว มันเป็นมานาน หากจะให้มองถึงรากเหง้าของปัญหา พูดสามวันเจ็ดวันก็ไม่น่าจะหมด มันเหมือนกับว่า ทุกคนก็ทราบปัญหานี้ดี มันมีนานแล้ว แล่้วมันก็็น่าสามารถสะท้อน สิ่งที่ผมเกริ่นไปก่อนหน้านี้ได้ส่วนหนึ่งว่า ทำไมบรรณารักษ์จึงไม่ได้รับความไว้วางใจ จากผู้หลักผู้ใหญ่

8 ตอบกลับไปที่ “เปลือย TCDC: บริบทกับความอยู่รอด ตอน 2”

  1. alwayslek Avatar

    I disagree with the location of TCDC at ห้างเอ็มโพเรี่ยม. They should locate at the Mall Bangkapi (or next to it, Tawana). More poor people visit the Mall Bangkapi.

    However, set up a mini-TCDC at ห้างเอ็มโพเรี่ยม is OK.

  2. Moët Hennessy Avatar
    Moët Hennessy

    design center can locate at anywhere but they should be in the city especially along the bts or mrt line otherwise it means NOTHING.

    moreover, to set a library for designers, the location should be the pride of ORIGINALITY not surrounding with REPLICA product.

  3. gooogolf Avatar
    gooogolf

    TCDC สาขาราชดำเนิน (ที่เด็กฝั่งธนฯคนนี้จะไปง่ายๆ) ก็อดเลยดิ่…

    ชอบประโยคนี้
    “งานของตัว” มากกว่า ที่เป็นปัญหาใหญ่

  4. alwayslek Avatar

    @Moët Hennessy
    I think you didn’t mean “the only BTS commuters can use TCDC”. What about BUS takers like me can’t use it?? I think you didn’t mean that.

    Ideally, TCDC should rather be benefit to the poors than the riches. Of cause, most of the poors are taking BUS not BTS.

  5. Moët Hennessy Avatar
    Moët Hennessy

    i dont understand why do you think bts is the way of the riches. come on it’s just an public transportation. do you agree it makes everywhere along bts/mrt line is easier to access?

    you may said only bus is good enough but what i said is more than one way is better. i’m surely any bts way, a bus can reach.

    we are not talking about poor or rich. you know what i mean more accessible of a target group is more useful.

  6. มิสเตอร์นกไขลาน Avatar
    มิสเตอร์นกไขลาน

    น่าเสียดาย

    ทำไมสำนักนายกฯ ไม่พัฒนาหอสมุดแห่งชาติแทน

    แต่ก็ถือว่า TK Park ประสบคามสำเร็จในระดับหนึ่งนะครับ

    ในฐานะของสวนสนุกสำหรับเด็ก

  7. เสมิร์ฟ Avatar
    เสมิร์ฟ

    ในประชาไท ลงข่าวที่เกี่ยวข้อง
    “การเมืองย้อนกลับใน TCDC “

    “TCDC จะตายได้อย่างไร”

  8. anpanpon :P Avatar

    ชอบ TK Park เช่นกัน ..แต่ TCDC พูดจริงๆ เข้าไปแล้วแอบอึดอัดนะ ..ดูเข้าถึงเฉพาะ Nischmarket รึเปล่าเนี่ย -_-” แต่ก็ชอบนิทรรศการที่โชว์อยู่นะ :)

ส่งความเห็นที่ gooogolf ยกเลิกการตอบ